สหกรณ์การเกษตรเพื่อเกษตรกร
ที่มาของโครงการ
          การดำเนินการในการจัดตั้งสหกรณ์การเกษตรเพื่อเกษครกรได้สำรวจความต้องการของชาวบ้านทางด้านการเกษตรในตำบลหนองกรดในหมู่ที่ 1ถึงหมู่ที่17 ปรากฏว่าข้อมูลประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรมประมาณ 90% ในการประกอบอาชีพเกษตรกรรม เกษตรกรจำเป็นต้องใช้ปุ๋ยซึ่งมีการจัดซื้อปุ๋ยจากร้านค้าทั่วไปประมาณ 70% และในการจำหน่ายผลผลิตต้องผ่าน พ่อค้าคนกลางประมาณ 65% จากผลการวิเคราะห์ทำให้ทราบว่าประชาชนในพื้นที่ตำบลหนองกรด ประสบปัญหาการเกษตรด้านต่างๆ ดังนั้นทางคณะนิสิตนักศึกษาจึงได้ทำการจัดตั้งโครงการนี้ขึ้น เพื่อแก้ปัญหาทางด้านการเกษตรของประชาชนชาวตำบลหนองกรด
หลักการและเหตุผล
          จากการวิเคราะห์ข้อมูลทางด้านการเกษตรของตำบลหนองกรด พบว่าประชากรส่วนใหญ่ประกอบอาชีพเกษตรกรรม โดยพืชที่ปลูกส่วนใหญ่เป็นข้าว มันสำปะหลัง อ้อย มะเขือ จากข้อมูลทำให้เราทราบว่ามันสำปะหลังเป็นพืชไร่ที่ปลูกมากที่สุดในบริเวณหมู่ที่ 7,หมู่ที่ 12 , หมู่ที่ 15 และหมู่ที่ 16 บางส่วน พื้นที่ปลูกมันสำปะหลังประมาณ 12,522 ไร่ คิดเป็น 15.55% ของพื้นที่ตำบลหนองกรด และมีพื้นที่ปลูกอ้อย 10,168 ไร่คิดเป็น12.63% ของพื้นที่ตำบลหนองกรด จากข้อมูลที่ได้ทำการสอบถามจากประชาชนชาวตำบลหนองกรดทำให้รู้ว่าเกษตรกรชาวไร่มัสำปะหลังยังขาดความรู้ทางด้านการเกษตร เช่น มีการใช้ปุ๋ยไม่ถูกสูตร ซึ่งจะทำให้ดินเสื่อมคุณภาพ และการบำรุงรักษาผลผลิตไม่ดีพอ ทำให้ผลผลิตที่ได้ไม่สูงมากนัก และปัญหาอื่นๆ เช่น ปัญหาทางด้านการขนส่งผลผลิตไปยังแหล่งรับซื้อ และโรงงาน ซึ่งจะเสียค่าใช้จ่ายในการขนส่ง อีกทั้งปัญหาของตลาดรองรับผลผลิต และเงินทุนในการประกอบอาชีพ ดังนั้นโครงการเรียนรู้ร่วมกันสรรค์สร้างชุมชนจึงได้เสนอโครงการนี้ขึ้นเพื่อช่วยแก้ปัญหาความยากจน ภายในชุมชนและเพื่อลดรายจ่าย เพิ่มรายได้ให้กับประชาชน

วัตถุประสงค์ของโครงการ
          1. เพื่อเป็นการส่งเสริมความรู้ด้านการเกษตรให้แก่เกษตรกรในตำบลหนองกรด
          2. เพื่อเพิ่มรายได้ให้กับเกษตรกรโดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลาง
          3. เพื่อเป็นการระดมทุนให้กับสหกรณ์
          4. เพื่อให้สมาชิกรู้จักการออมทรัพย์

วิธีดำเนินการ
          1.จัดหาสถานที่เพื่อจัดตั้งสหกรณ์
          • ศึกษาทำเลพื้นที่ของตำบลหนองกรด
          • กำหนดสถานที่ตั้ง

          2. ก่อสร้างอาคารและลานรับซื้อ
          • ออกแบบอาคารสถานที่
          • ดำเนินการก่อสร้างตามแบบ

          3. ขั้นตอนการดำเนินงาน
          • จัดหาวัสดุอุปกรณ์ทางการเกษตร รวมทั้งสิ่งของที่จำเป็นจำหน่ายแก่สมาชิก
          • จัดให้มีการบำรุงรักษาพื้นที่เพาะปลูกทางการเกษตร เพื่อผลผลิตที่มีคุณภาพ
          • จัดอบรมให้กับสมาชิกในสหกรณ์
          • รวบรวมผลผลิตของสมาชิก เพื่ออำนาจการต่อรองราคา
          • แบ่งเงินปันผลแก่สมาชิก
          • ประเมินผลการดำเนินกิจกรรมเพื่อใช้ในการปรับปรุงและพัฒนาสหกรณ์

สถานที่ดำเนินการ
          เนื่องจากหมู่ที่ 14 อยู่ในบริเวณใกล้กับหมู่ที่ 7 ,หมู่ที่ 12 และ หมู่ที่ 15 ซึ่งเป็นพื้นที่ที่มีการปลูกมันสำปะหลังที่มีผลผลิตมาก และยังสามารถลดระยะทางในการขนส่งผลผลิตทางการเกษตร

ผลที่คาดว่าจะได้รับ
          1. เกษตรกรมีอำนาจต่อรองราคาผลผลิตมากขึ้น
          2. เกษตรกรมีความรู้ความเข้าใจเกี่ยวกับการเกษตรมากขึ้น
          3. เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้นจากผลิตผลขายได้ในราคาที่เป็นธรรม
          4. เกษตรกรได้รับความสะดวกจากการใช้บริการที่รวดเร็ว
          5. ช่วยให้เกษตรกรลดค่าใช้จ่ายในด้านการขนส่ง
          6. เมื่อสหกรณ์มีผลกำไรสมาชิกจะได้รับเงินปันผลตามจำนวนหุ้น
          7. สมาชิกรู้จักการออมทรัพย์

 
   
     
เว็บไซต์นี้ แสดงผลได้ดี บนความละเอียด 800x600 Text Size Medium
สร้างสรรค์โดยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5  ปีการศึกษา 2549
โรงเรียนนวมินทราชูทิศ มัชฌิม อ.เมือง จ.นครสวรรค์