ประวัติและความเป็นมา

          อำเภอเมืองนครสวรรค์ เป็นเมืองโบราณ สันนิฐานว่าสร้างขึ้นตั้งแต่สมัยสุโขทัยเป็นราชธานี โดยมีชื่อปรากฏในศิลาจารึกว่า “เมืองพระบาง” เป็นเมืองหน้าด่านสำคัญในการทำการศึกสงครามมาทุกสมัย ตัวเมืองเดิม ตั้งอยู่ในบริเวณที่ดินเชิงเขาขาด (เขาฤาษี)จรดวัดหัวเมืองต่อมาได้เปลี่ยนชื่อเป็นเมือง “ชอนตะวัน” เพราะตัวเมืองตั้งอยู่ฝั่งตะวันตกของแม่น้ำเจ้าพระยาและหันหน้าไปทางแม่น้ำ ซึ่งอยู่ทางทิศตะวันออก และต่อมาภายหลังได้เปลี่ยนชื่อเป็น “นครสวรรค์” ซึ่งแต่เดิมจนถึงปัจจุบันรู้จักกันในนาม “ปากน้ำโพ” คำว่าปากน้ำโพ มีข้อสันนิฐานอยู่ 2 ประการ คือ อาจมาจากคำว่า “ปากน้ำโผล่” เพราะเป็นที่รวมของแม่น้ำปิง และน่าน เป็นแม่น้ำเจ้าพระยา หรืออีกประการหนึ่งคือ มีต้นโพธิ์ขนาดใหญ่อยู่ตรงปากแม่น้ำในบริเวณวัดโพธิ์ ซึ่งเป็นที่ตั้งศาลเจ้า พ่อกวนอู

          ภาพรวมอำเภอเมืองนครสวรรค์ เป็นอำเภอหนึ่งของจังหวัดนครสวรรค์ ตั้งอยู่บริเวณที่ราบลุ่มตอนกลางของจังหวัดด้วยระยะทางจากกรุงเทพฯ ไปทางทิศเหนือตามเส้นทางหลวงหมายเลข 1 (ถนนพหลโยธิน) ระยะทางประมาณ 237 กิโลเมตร มีพื้นที่ประมาณ 784,530 ตารางกิโลเมตร หรือ 490,331.25 ไร่ คิดเป็นอัตราร้อยละ 7.80 ของพื้นที่จังหวัด อำเภอเมืองนครสวรรค์ มีทำเลที่ตั้งเหมาะสมเพราะเป็น “ประตูสู่ภาคเหนือ” และเป็นศูนย์กลางการคมนาคมขนส่งที่สามารถเชื่อมโยงกับจังหวัดต่าง ๆ ได้สะดวก ได้แก่ ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 1 (กรุงเทพฯ-เชียงราย) ทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 117 (นครสวรรค์-พิษณุโลก) และทางหลวงแผ่นดินหมายเลข 225 (นครสวรรค์-ชัยภูมิ) ซึ่งเส้นทางดังกล่าวทั้งหมดมีโครงการขยายเป็นแบบ 4 ช่องจราจร

การปกครอง
          ในปี พ.ศ. 2544 ทั้งหมด แบ่งเขตการปกครองออกเป็น 17 ตำบล 170 หมู่บ้าน มีชุมชนเมือง 2 แห่ง คือ เทศบาลนครนครสวรรค์ มีพื้นที่ประมาณ 27.84 ตารางกิโลเมตร และเทศบาลตำบลหนองเบน อำเภอเมืองนครสวรรค์ มีพื้นที่ประมาณ 1.120 ตารางกิโลเมตร นอกจากพื้นที่บางส่วนของอำเภอเมืองนครสวรรค์ประมาณ 59.04 ตารางกิโลเมตร อยู่ในบังคับใช้กฎกระทรวงผังเมืองรวมเมืองนครสวรรค์ในปี พ.ศ. 2544 มีประชากรรวมทั้งสิ้น ประชากร ทั้งหมด 239,740 คน แยกเป็น ชาย 117,559 คนหญิง 122,181 คน ความหนาแน่นประชากรเฉลี่ย 188 คนต่อตารางกิโลเมตร สำหรับการตั้งถิ่นฐานประชากรระดับตำบลอาศัยอยู่หนาแน่นสูงสุด ได้แก่ ตำบลนครสวรรค์ออก 711 คนต่อตารางกิโลเมตร ส่วนตำบลที่มีประชากรเบาบางที่สุด ได้แก่ ตำบลพระนอน 77 คนต่อตารางกิโลเมตร มีการแบ่งการปกครองท้องถิ่นออกเป็นองค์การบริหารส่วนตำบล จำนวน 16 ตำบล

บทบาทและหน้าที่ของอำเภอเมืองนครสวรรค์
          เมืองนครสวรรค์เป็นเมืองศูนย์กลางหลักของภาคเหนือตอนล่าง จึงมีบทบาทเป็นศูนย์กลางบริหาร การปกครอง การพาณิชกรรม การอุตสาหกรรม การขนส่ง การศึกษา และการบริการสาธารณะระดับจังหวัด และระดับภาค จากบทบาทหน้าที่และความสำคัญของเมืองดังกล่าว จะมีการดึงดูดให้มีการเคลื่อนย้ายประชากรเข้าสู่พื้นที่เพิ่มขึ้น ดังนั้นในระยะ 20 ปีข้างหน้า (ปี พ.ศ. 2568) จะมีประชากรคาดการณ์รวมทั้งสิ้น 158,000 คน โดยมีอัตราการเปลี่ยนแปลงร้อยละ 0.87 ต่อปี

ขนาดขนาดและที่ตั้ง
          อำเภอเมืองนครสวรรค์ ตั้งอยู่ใจกลางจังหวัดนครสวรรค์ ประมาณละติจูดที่ 15.5 องศาเหนือ และลองติจูดที่ 99.7-100 องศาตะวันออก อยู่หางจากกรุงเทพตามเส้นทางสายเอเชีย 237 กิโลเมตร สูงจากระดับน้ำทะเล30 เมตร มีเนื้อที่ 467,668 ไร่ หรือประมาณ 748.27 ตารางกิโลเมตร มีอาณาเขต ดังนี้
          ทิศเหนือ ติดกับอำเภอบรรพตพิสัย และอำเภอเก้าเลี้ยว
          ทิศตะวันออก ติดกับอำเภอชุมแสงและอำเภอท่าตะโก
          ทิศใต้ ติดกับอำเภอพยุหะคีรี
          ทิศตะวันตก ติดกับอำเภอโกรกพระและอำเภอลาดยาว

ลักษณะภูมิประเทศ
          ลักษณะสภาพพื้นที่ส่วนใหญ่ เป็นที่ราบลุ่มมีแม่น้ำไหลผ่านโดยเฉพาะตอนกลางของอำเภอ ส่วนพื้นที่ด้านตะวันออกจะมีสภาพเป็นที่ลุ่ม คือ บึงบอระเพ็ด เป็นแหล่งน้ำขนาดใหญ่ทางธรรมชาติ ด้านเหนือของอำเภอเป็นที่ราบเหมาะแก่การทำนา ด้านใต้เป็นภูเขาจนถึงเขตอำเภอพยุหะคีรี

สภาพภูมิอากาศ
          ลักษณะภูมิอากาศแบ่งออกเป็น 3 ฤดู คือ
          ฤดูหนาว เริ่มตั้งแต่เดือนพฤศจิกายน ถึงเดือน มกราคม
          ฤดูฝน เริ่มตั้งแต่เดือนพฤษภาคม ถึงเดือนตุลาคม
          ฤดูร้อน เริ่มตั้งแต่เดือนมีนาคม ถึงเดือนพฤษภาคม อุณหภูมิสูงสุด 31.5 องศาเซลเซียส อุณหภูมิต่ำสุด 14.6 องศาเซลเซียส

สภาพเศรษฐกิจ สังคมและชุมชน

          โดยทั่วไปของอำเภอเมืองนครสวรรค์ จากการเป็นที่ตั้งของเมืองศูนย์กลางความเจริญระดับภาค โครงสร้างอาชีพของประชากรจึงมีหลากหลาย เป็นแหล่งจ้างแรงงานทั้งในภาคเกษตรกรรม ภาคบริการ ภาคอุตสาหกรรม และภาครัฐบาลแต่ฐานเศรษฐกิจสำคัญของอำเภอเมืองฯ ขึ้นอยู่กับการเกษตรกรรม ได้แก่ ข้าว พืชไร่ อีกทั้งยังเป็นตลาดกลางซื้อขายข้าวเปลือกใหญ่ที่สุดแห่งหนึ่งของประเทศในนาม “ท่าข้าวกำนันทรง” สำหรับอาชีพนอกภาคเกษตรกรรม ได้แก่ การค้าขาย และรับจ้างเป็นอาชีพรองลงมา ส่วนอาชีพด้านอุตสาหกรรมจะมีน้อยมาก ส่วนใหญ่เป็นกิจกรรมขนาดกลางและขนาดเล็กประเภทอุตสาหกรรมเกี่ยวเนื่องกับการเกษตร และอุตสาหกรรมบริการ โดยผู้ประกอบการในระดับท้องถิ่น

ประวัติตำบลหนองกรด
          ตำบลหนองกรดเป็นตำบลดั้งเดิมมิได้แยกจากตำบลอื่นใด ซึ่งเดิมในหมู่บ้านหนองกรดมีลักษณะเป็นหนองน้ำกว้างใหญ่ และมีต้นกรดขึ้นอยู่กลางน้ำ มีชาวบ้านอาศัยอยู่รอบบริเวณหนองน้ำนั้นเป็นจำนวนมาก จึงตั้งชื่อว่า บ้านหนองกรด เมื่อมีการประกาศจัดตั้งตำบล จึงได้ชื่อ “ตำบลหนองกรด” มาจนถึงปัจจุบัน

ประชากร
          ประชากรทั้งสิ้น 15,236 คน แยกเป็นชาย 7,343 คน หญิง 7,893 คน จำนวน 3,893 ครัวเรือน ครัวเรือนมีความหนาแน่นเฉลี่ย 121 คน / ตารางกิโลเมตร โดยราษฎรส่วนใหญ่มีบ้านเรือนคงทนถาวรและได้รับการประกาศเป็นหมู่บ้านสุขภาพดีถ้วนหน้าทุกหมู่บ้าน

   
     
เว็บไซต์นี้ แสดงผลได้ดี บนความละเอียด 800x600 Text Size Medium
สร้างสรรค์โดยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5  ปีการศึกษา 2549
โรงเรียนนวมินทราชูทิศ มัชฌิม อ.เมือง จ.นครสวรรค์