พระราชประวัติด้านการศึกษา

          พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัว ภูมิพลอดุลยเดชทรงศึกษาวิชาการเบื้องต้น ณ โรงเรียนมาแตร์เดอี ถนนเพลินจิตร จังหวัดพระนคร เมื่อพุทธศักราช 2475 เป็นปีที่มีการเปลี่ยนแปลงการปกครองในรัชสมัยพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 7 ขณะนั้นพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระชนมายุ 5 พรรษา
     พุทธศักราช 2476 ภายหลังที่ประเทศไทยได้เปลี่ยนแปลงการปกครอง มาเป็นระบอบประชาธิปไตยประมาณปีเศษ สมเด็จพระราชชนนี ฯ ได้นำเสด็จพระราชดำเนินไปประทับอยู่ ณ นครโลซานน์ ประเทศสวิตเซอร์แลนด์พร้อมด้วยสมเด็จพระเชษฐาธิราช ฯ และสมเด็จพระพี่นางเธอ เมื่อประทับอยู่ ณ พระตำหนัก “วิลลาวัฒนา”  โดยเรียบร้อยแล้วพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชได้เสด็จเข้าทรงศึกษาวิชาการตามหลักสูตรชั้นต้นตามหลักสูตรวิชาชั้นประถมศึกษาที่โรงเรียนเมียร์มองต์ ณ นครโลซานน์ ในเดือนกันยายน พุทธศักราช 2476 ครั้นต่อมาได้ทรงย้ายจากโรงเรียนนี้ ไปอยู่โรงเรียนนูเวล เดอลาสวิสโรมางค์ ใน พ.ศ. 2488 ทรงสอบไล่ได้ประกาศนียบัติ
บาเซอร์เลียร์ เอส เลตรส์ ในเดือนตุลาคม จึงเสด็จเข้าศึกษาในมหาวิทยาลัยโลซานน์ แผนกวิทยาศาสตร์ และในเดือนธันวาคม พ.ศ. 2488 ได้เสด็จมาถึงประเทศไทยมาพร้อมกับสมเด็จพระบรมเชษฐาอีกครั้งหนึ่ง ต่อมาเมื่อวันที่ 9 มิถุนายน พ.ศ.2489 ได้เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นพระมหากษัตริย์รัชกาลที่ 9 ต่อมาได้เสด็จพระราชดำเนินไปยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เมื่อวันที่ 19 สิงหาคม พ.ศ. 2489 ได้ทรงศึกษาวิชาใหม่ คือกฎหมาย และการปกครอง เนื่องจากต้องรับพระราชภาระเป็นพระมหากษัตริย์
     ด้านวิชาภูมิศาสตร์และประวัติศาสตร์ ทรงศึกษาเปรียบเทียบระหว่างประเทศไทยกับนานาประเทศ เกี่ยวกับพื้นฐานและวัฒนธรรมของแต่ละชาติ เพื่อเป็นแนวปรับปรุงแก้ไขประเทศไทยให้เจริญขึ้นกว่าที่เป็นอยู่ ซึ่งพระองค์ทรงประราชปรารภอยู่เสมอว่า ประเทศไทยของพระองค์ยังล้าหลังประเทศอื่นอยู่มาก ทั้งในด้านเศรษฐกิจ และการศึกษา ฯลฯ
     ทางด้านวิชาอักษรศาสตร์ปรากฏว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงเชี่ยวชาญในภาษาต่างประเทศหลายภาษา เช่น ภาษาฝรั่งเศส อังกฤษ เยอรมันและลาติน อันเป็นรากฐานสำคัญให้พระองค์ทรงศึกษาวิชากฎหมายได้อย่างลึกซึ้ง
ด้านการปกครอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงสนพระราชหฤทัยในการปกครองของประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ซึ่งพระองค์ถือเอาเป็นแนวสังเกต
ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เป็นประเทศเล็ก ๆ ตั้งอยู่ท่ามกลางประเทศมหาอำนาจหลายประเทศ แต่น่าประหลาดที่สามารถดำรงเอกราชไว้ได้ตลอดมาเป็นเวลานาน โดยไม่ได้รับการรุกรานจากประเทศอื่น ๆ เลย และประชาชนพลเมืองของประเทศนี้ก็มีอยู่หลายชาติหลายภาษา เช่น ฝรั่งเศส อิตาเลียน และเยอรมัน เป็นต้น และเมื่อเทียบส่วนเฉลี่ยแล้วปรากฏว่า เป็นประเทศที่มีพลเมืองที่ได้รับการศึกษาดีที่สุดในโลก ขนาดคนที่เลี้ยงแกะอยู่บนเขาสูงก็มักจะเรียนสำเร็จมหาวิทยาลัยแทบทั้งนั้น ประเทศนี้ปกครองโดยระบอบมหาชนรัฐและก็มีบางรัฐที่ไม่ต้องมีผู้แทนราษฎร เมื่อจะออกกฎหมาย ราษฎรก็มาประชุมกันออกกฎหมายเอง เพราะราษฎรต่างก็มีการศึกษาดีด้วยกันทั้งนั้นเราคนไทยส่วนมากรู้จักประเทศสวิสส์ดี ในฐานะที่เป็นประเทศผลิตนาฬิกาชั้นเยี่ยมของโลก แต่มีน้อยคนที่รู้จักประเทศสวิสส์ในฐานะที่มีการปกครองระบอบประชาธิปไตยที่ตรงตามความหมาย มากที่สุดในโลก
อย่างไรก็ตาม ในฐานะที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช      ทรงดำรงตำแหน่งพระประมุขของชาติจึงเป็นเหตุให้พระองค์ต้องทรงรับพระราชภารกิจอันหนักนับแต่เสด็จขึ้นครองราชย์เป็นต้นมา การศึกษาวิชาการเพื่อปกครองประชาชนชาวไทย ให้อยู่เย็นเป็นสุขในอนาคตนั้นบังคับพระองค์จนไม่มีโอกาสจะทรงสำราญพระราชอิริยาบถหรือทรงพักผ่อนได้อย่างไรเลย พระองค์ทรงใช้เวลาทั้งหมดคร่ำเคร่งอยู่กับวิชาการ ด้วยพระวิริยะพากเพียรอย่างยิ่ง อันเป็นการเสียสละประโยชน์สุขส่วนพระองค์ให้แก่ประเทศชาติ และประชาชนชาวไทยโดยแท้
     ตลอดเวลาที่พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชทรงเหนื่อยยากตรากตรำศึกษาวิชาการอยู่ ณ ทวีปยุโรปนั้น ปวงอาณาประชาราษฎรทางประเทศไทย พากันร่ำร้องเรียกหาพระประมุขของชาติอยู่ทุกวันมิได้ขาด เพื่อให้พระองค์เสด็จกลับมาประทับอยู่ในประเทศเป็นมิ่งขวัญอบอุ่นเกล้าของชาวประชาสืบไป ประเทศชาติที่ขาดองค์พระประมุข ย่อมจะมีแต่ความว้าเหว่าเปล่าเปลี่ยวใจเป็นยิ่งนัก
“พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช มีพระบรมราชโองการให้แจ้งแก่คณะรัฐบาลว่า พระองค์ทรงงดการเสด็จกลับไว้พลางก่อนจนกว่าจะทรงศึกษาจบตามหลักสูตรแล้ว”
      ในระยะเวลาอันใกล้ ๆ กันนั้นเอง พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดช ทรงมีพระราชดำรัสทางโทรเลขเรียกองค์คมนตรี พระเจ้าวรวงศ์เธอ พระองค์เจ้าธานีนิวัติ ไปเฝ้า ฯ ยังประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทรงซักถามความเป็นไปของบ้านเมือง และความทุกข์สุขของปวงอาณาประชาราษฎรของพระองค์ ซึ่งพระองค์ทรงห่วงใยอยู่ในพระราชหฤทัยเป็นนิจ
     ส่วนการเสด็จพระราชดำเนินกลับมาประทับอยู่ในประเทศไทย อาจต้องระงับไว้พลางก่อน จนกว่าพระองค์จะทรงศึกษาวิชากฎหมายสำเร็จ ซึ่งในการนี้จะต้องใช้เวลาศึกษาจนกว่าจะทรงสำเร็จ
     ในระหว่างนั้น คณะรัฐบาลได้แถลงให้ประชาชนทราบว่า พระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชจะเสด็จพระราชดำเนินมาประกอบพระราชพิธีถวายพระเพลิงพระบรมศพสมเด้จพระบรมเชษฐาธิราช ฯ ในเดือนกุมภาพันธ์ เมื่อเสร็จแล้วพระองค์จึงจะเสด็จพระราชดำเนินกลับสู่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ เพื่อทรงศึกษาวิชาการต่อไป
   
     
   
เว็บไซต์นี้ แสดงผลได้ดี บนความละเอียด 800x600 Text Size Medium
สร้างสรรค์โดยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5  ปีการศึกษา 2549
โรงเรียนนวมินทราชูทิศ มัชฌิม อ.เมือง จ.นครสวรรค์