นิทานท้องถิ่น เป็นนิทานขนาดสั้น  ตอนเดียวจบ  มักเป็นเรื่องเหตุการณ์เดียวและเกี่ยวกับความเชื่อ  ขนบธรรมเนียมประเพณี โชคลางหรือคตินิยมที่เป็นพื้นฐานในแต่ละท้องถิ่นนั้นๆ เนื้อเรื่องจะแปลกพิสดารหรือเกินความเป็นจริงบ้าง แต่ก็ยังเชื่อว่าเรื่องเหล่านี้เกิดขึ้นจริง มีเค้าความจริงๆ มีตัวละครจริงๆ มีสถานที่เกิดขึ้นจริงที่กำหนดแน่นอน  นิทานท้องถิ่นแบ่งออกได้ดังนี้
        นิทานอธิบาย
            เป็นนิทานขนาดสั้น ตอนเดียวจบ มีจำนวนมากอยู่ทุกท้องถิ่น เนื้อเรื่องจะอธิบายถึง  ต้นกำเนิดหรือความเป็นมาของสิ่งที่เกิดขึ้นในธรรมชาติ  อาจอธิบายถึงกำเนิดของสัตว์บางชนิด  สาเหตุที่สัตว์มีรูปร่างลักษณะต่างๆ เรื่องประเภทนี้จะเล่าอย่างตรงไปตรงมา เพื่อจะตอบคำถามว่าทำไมสิ่งนั้นถึงเป็นอย่างนั้น ตัวอย่างนิทานอธิบาย เช่น
     เรื่องเต่ามีกระดองเป็นรอยแยก   
          เมื่อก่อนเต่ามีกระดองแข็งเรียบ  มีเพื่อนเป็นกระรอก  เมียกระรอกเจ็บท้องจะออกลูก กระรอกจึงขอให้เต่ามาช่วยดูแล กระรอกให้เต่าคาบหางเพื่อจะขึ้นมาบนต้นไม้   เมียกระรอกเห็นจึงร้องทัก  เต่าได้ยินก็อ้าปากจะพูดเลยตกลงมายังพื้นดินตัวเต่าแตกละเอียด  พระอินทร์พอรู้ก็สงสารจึงเอากระดองเต่ามาต่อเป็นตัวเดิม  ตั้งแต่นั้นมาเต่าจึงมีกระดองเป็นรอยแตกเหมือนปัจจุบัน นิทานเรื่องนี้ให้ข้อคิดว่าการเผลอหรือลืมตัวในการกระทำใดๆอาจทำให้ได้รับอันตราย

     เรื่องประวัติทุเรียน  

          ในสมัยหนึ่งมีสองตายายไปอยู่ป่า มีผลไม้ชนิดหนึ่งเวลามันสุก มันจะส่งกลิ่นหอมไปทั้งป่า สองตายายที่อยู่ใกล้ผลไม้นั้นเห็นว่ามันหอมมาก   ตาก็อยากกิน  ยายจึงสั่งห้ามไม่ให้กิน กลัวตาจะตายได้  ตาก็รั้นอยากจะกินมากๆ ยายก็ได้ห้ามไว้แล้วไม่รู้จะทำอย่างไรดี จะกินหรือไม่กิน  ตายายจึงได้ปรึกษากันว่าจะเก็บไปถวายพระราชาจึงได้ตกลงกันว่าจะนำผลไม้ไปถวายให้ นำไปถวายว่า ผลไม้ชนิดนี้มันกินได้ไหมกินอย่างไรจะได้รู้ พระราชาก็ไม่รู้ว่าผลไม้ชนิดนี้คืออะไร ก็ได้ประกาศให้บ่าวไพร่ทั้งหลาย บอกว่าถ้าใครกินผลไม้นี้จะให้รางวัลอย่างที่พระราชาประกาศไว้ ถ้าไม่ตายและถ้าตายก็จะให้รางวัลญาติพี่น้องที่มีชีวิตอยู่ ไม่มีใครได้รับอาสาที่จะกินผลไม้นั้น แต่มีทหารอยู่คนหนึ่งกล้ารับอาสาที่จะกินไม่กลัวตายเสร็จแล้วทหารคนนั้นก็นำผลไม้มากิน กินแล้วไม่ตาย   ก็นำมากินอีก กินเสร็จแล้วไม่ตาย พระราชาก็ให้รางวัลแก่ทหารคนนั้น เสร็จแล้วก็ได้ตั้งชื่อว่าผลไม้ทูลเรียนไม่ใช่ทุเรียน  อย่างที่เรียกกันอยู่ สองตายายนำมาทูลเรียนพระราชา ประวัติจริงๆ ไม่ใช่ ทุเรียน แต่เป็น ทูลเรียน
        นิทานเกี่ยวกับความเชื่อ
             เป็นนิทานที่มีความเชื่อเรื่องโชคลาง เรื่องผีตลอดจนเรื่องเกี่ยวกับไสยศาสตร์ ตัวอย่างนิทานเกี่ยวกับความเชื่อ เช่น
     เรื่อง ทิดดี ทิดร้าย 
          ทิดดีและทิดร้ายบวชอยู่ที่วัดแห่งหนึ่ง เมื่อบวชครบพรรษารับกฐินเสร็จแล้วก็ต้องการที่จะสึกเพื่อไปประกอบอาชีพของตน จึงไปหาสมภารเพื่อดูฤกษ์ยามเวลาสึกไปจะดีร้ายประการใด หลวงพ่อก็ตรวจดวงของพระชื่อดี ก็บอกว่าสึกได้สึกไปแล้วดวงดีจริงๆ จะได้ภรรยาร่ำรวย ส่วนของทิดร้ายก็ตรวจดูว่าปีนี้สึกไม่ได้ สึกไปแล้วไม่ดีลำบากลำบน แต่ทิดร้ายคิดในใจว่าถ้าทิดดีสึกอย่างไรเราก็ต้องสึก ตกลงทิดดีสึกเพราะดวงดี ทิดร้ายสึกเพราะเป็นเพื่อนกับทิดดี พอสึกแล้วทิดดีก็ได้ภรรยาดีอยู่ในเรือนแพ มีทรัพย์สมบัติมาก ส่วนทิดร้ายดวงไม่ดีต้องไปรับจ้างเขาทำงานเพราะรู้ว่าจะขี้เกียจไม่ได้ เพราะดวงไม่ดีแล้วจะเป็นถึงขนาดขอทาน อาจารย์ทายไว้อย่างนั้นจึงขยันหมั่นเพียร จนเจ้าของสวนที่มีลูกสาวเกิดความพอใจรักใคร่ จึงให้แต่งงานกับลูกสาวของตน สำหรับทิดดี เมื่อได้คุณนายเรือนแพ มีทรัพย์สมบัติมากมาย เมื่อรู้ว่าหลวงพ่อตรวจดูดวงชะตาว่าไม่จน ก็ไม่ทำอะไรใช่แต่ของเก่าให้หมดไป เล่นการพนัน ในที่สุดของเก่าที่มีอยู่ ก็ต้องถูกเจ้าของหนี้ยึดเอาไป ก็ไปกราบหลวงพ่อที่ท้ายวัด พอไปถึงหลวงพ่อก็ถามว่า เป็นอย่างไรบ้าง ทิดดีเล่าไปตามตรงว่าตอนแรกก็ดีแต่ตอนนี้ไม่ร่ำรวยหรอกครับ ส่วนทิดร้ายเมื่อได้ภรรยาเป็นเจ้าของสวนก็นึกถึงอาจารย์ขึ้นมาวันนี้จึงทำอาหารไปถวาย เป็นเวลาเดียวกับที่ทิดดีไปหาหลวงพ่อ เมื่อเข้าไปหาพร้อมกันหลวงพ่อจึงจัดการดูดวงชะตาอีกครั้งว่าทำไมจึงดูผิดไปก็ปรากฏว่าดวงของทิดดีดีจริงๆ แต่ดวงของเมียไม่ดี ไปตกที่ดวงไม่ช่วยเหลือกัน ส่วนดวงของทิดร้ายไม่ดีจริงๆ แต่ดวงของเมียดี ทำให้ดวงของทิดร้ายดีขึ้น จากนิทานเรื่องนี้จะเห็นได้ว่า ชีวิตจะดีไม่ดีไม่ได้ขึ้นอยู่กับดวงอย่างเดียว
        นิทานคติสอนใจ
             เป็นนิทานที่มีขนาดเรื่องสั้น ๒-๓ ตอนจบ นิยมเล่าสู่กันฟังอย่างแพร่หลาย มีแนวเรื่องปรับปรุงมาจากหลักธรรมของพระพุทธศาสนามาเพิ่มเติมเสริมแต่ง  แสดงถึงคุณธรรม ความกตัญญู ความซื่อสัตย์ของตัวเอก โดยชี้ให้เห็นคุณของผู้ทำความดีและชี้ให้เห็นโทษของผู้ที่ทำความชั่ว เป็นข้อเตือนใจในการดำรงชีวิต ตัวอย่างนิทานคติสอนใจ เช่น
     เรื่อง กฎแห่งกรรม    
           ยายแก่คนหนึ่งได้รับเงินจากเศรษฐีมา   เพื่อนำมาซื้ออาหารดีๆมาใส่บาตร แต่ยายแก่กลับนำเงินที่ได้มาส่งเสียลูกชายและลูกสาวเรียนหนังสือหมด ซื้อแต่ถั่วงอกมาผัดใส่บาตรทุกวัน เพราะมีราคาถูก ในที่สุดยายแก่ก็ล้มป่วยลง กินอะไรก็ไม่ได้เหมือนมีเส้นถั่วงอกติดคอ และก็ตายในที่สุด
     เรื่อง กรรมเก่า   
          เมียเศรษฐีใช้วัวคู่หนึ่งเทียมเกวียนไปเก็บดอกเบี้ยทั้งวันจนวัวหมดแรง เมียเศรษฐีโมโห  จึงเอาฟางมัดขาวัวคู่นั้น แล้วจุดไฟเผาจนวัวตาย เมื่อเมียเศรษฐีตายก็ไปเกิดเป็นกา มีเสวียนหม้อจุดไฟคล้องคอจนตาย ส่วนเมียเศรษฐีอีกคนหนึ่ง จับหมาเหวี่ยงลงน้ำจนหมาจมน้ำตาย และในที่สุดตัวเองก็ได้รับผลกรรมคือถูกสามีถีบตกน้ำตาย
   
     
   
เว็บไซต์นี้ แสดงผลได้ดี บนความละเอียด 1024x768 Text Size Medium
วิชา การออกแบบเว็บไซต์เบื้องต้น ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ปีการศึกษา 2554
โรงเรียนนวมินทราชูทิศ มัชฌิม  เขตพื้นที่การศึกษามัธยมศึกษา เขต 42