หน้าแรก
ประวัติชุมชนบ้านมอญ
ประวัติชาวมอญ
ภูมิปัญญาไทย
ประวิติเจ้าของภูมิปัญญา
ที่ตั้ง/สถานที่จำหน่ายสินค้า
ภูมิหลังความสำคัญ
บัญชีรายชื่อสมาชิกกลุ่ม
วัตถุประสงค์
การก่อสร้างลานกีฬา
คณะผู้จัดทำ
 

บ้านมอญ จ.นครสวรรค์

 

       ชุมชน มอญ ในจังหวัดนครสวรรค์ นั้นมีที่มาเช่นเดียวกับชุมชนมอญอื่น ๆ อีกหลายแห่งในประเทศไทย กล่าวคือ เป็นกลุ่มชาวมอญที่มีถิ่นฐานเดิมอยู่ในประเทศรามัญ (ปัจจุบันคือประเทศพม่า) แต่ต้องอพยพจากบ้านเมืองของตน เข้ามาสู่ดินแดนประเทศไทย ก็ด้วยปัญหาเรื่องการเมือง เมื่อชาวมอญถูกพม่ารุกราน จนกลายเป็นชนชาติที่ไร้แผ่นดิน มาจนกระทั่งทุกวันนี้

       มอญ เป็นชนชาติเก่าแก่ที่สุดชนชาติหนึ่ง ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ มีถิ่นฐานเดิมอยู่บริเวณพม่าตอนล่าง เป็นชนชาติที่มีอารยะธรรมสูง และเป็นแบบอย่างแก่หลายชนชาติ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เมื่อบ้านเมืองตกเป็นของพม่า ชาวมอญถูกพม่ากดขี่ข่มเหง และต้องการกลืนชาติมอญให้สิ้นไปจากโลกนี้ ชาวมอญส่วนหนึ่ง จึงอพยพเข้ามาพึ่งพระบรมโพธิสมภารในเมืองไทย

       ชาวมอญ ได้อพยพเข้ามายังแผ่นดินไทย หลายต่อหลายครั้ง เท่าที่ทางการไทยจดบันทึกเอาไว้รวมทั้งสิ้น ๙ ครั้ง ครั้งแรกคือ ในสมัยกรุงศรีอยุธยา ราว พ.ศ. ๒๐๘๒ ต่อจากนั้น ชาวมอญก็ยังคงอพยพเข้าเมืองไทยมา เป็นระลอก ๆ มากบ้างน้อยบ้าง กระทั่งในสงครามครั้งสุดท้ายระหว่างมอญกับพม่า เมื่อ พ.ศ. ๒๓๐๐ ที่มอญถูกพม่าทำลายล้างอย่างหนัก ไม่สามารถฟื้นตัวและกอบกู้เอกราชของตนมาได้อีก จนทุกวันนี้

       และในการอพยพครั้งที่ ๙ ซึ่งเป็นครั้งสุดท้าย ใน พ.ศ.๒๓๕๗ รัชสมัยพระบาทสมเด็จพระพุทธเลิศหล้านภาลัย รัชกาลที่ ๒ เมื่อมอญไม่พอใจที่ถูกพม่าเกณฑ์แรงงานก่อสร้างพระเจดีย์ จึงก่อกบฎขึ้นและถูกพม่าปราบปราม ต้องหนีเข้าไทยเป็นระลอกใหญ่ ราว ๔๐ , ๐๐๐ คนเศษ เจ้าฟ้ามงกุฎ (ต่อมาคือรัชกาลที่ ๔) เสด็จเป็นแม่กองออกไปรับถึงชายแดน พวกนี้มาตั้งรกรากที่สามโคก ปากเกร็ด และพระประแดง

       ชาวมอญ ได้ตั้งบ้านเรือนอยู่ทั่วไปตามที่ราบลุ่มริมน้ำภาคกลาง ได้แก่   ลพบุรี สระบุรี อยุธยา นครปฐม กาญจนบุรี ราชบุรี สุพรรณบุรี อ่างทอง นครนายก ปทุมธานี นนทบุรี สมุทรสงคราม สมุทรปราการ สมุทรสาคร กรุงเทพฯ ฉะเชิงเทรา เพชรบุรี ประจวบคีรีขันธ์ ( โดยมากเป็นแหล่งที่พระเจ้าแผ่นดินทรงโปรดฯ พระราชทานที่ดินทำกินให้แต่แรกอพยพเข้ามา) และบางส่วนตั้งภูมิลำเนาอยู่แถบภาคเหนือ ได้แก่ เชียงใหม่ ลำพูน ลำปาง ตาก กำแพงเพชร นครสวรรค์ อุทัยธานี ( เขตเมืองที่อยู่ติดชายแดนไทย) ทางอีสาน ได้แก่ นครราชสีมา ชัยภูมิ มีบ้างเล็กน้อยที่อพยพลงใต้ อย่าง ชุมพร สุราษฎร์ธานี

      กลุ่มชาวมอญที่อพยพเข้ามาเมืองไทย อย่างเป็นทางการนั้น พระเจ้าแผ่นดินโปรดฯ ให้ตั้งบ้านเรือนรอบ ๆ เขตเมืองหลวง ครั้นต่อมาความเจริญของบ้านเมืองขยายตัว พื้นที่ทำกินเริ่มคับแคบ ประกอบกับชาวมอญเหล่านั้น ต้องการแสวงหาช่องทางทำมาหากินใหม่ ๆ จึงได้มีการอพยพโยกย้ายไปยังภูมิภาคอื่น ๆ ของประเทศไทย และชุมชนมอญบ้านมอญ และชุมชนมอญอื่น ๆ ในจังหวัดนครสวรรค์ จึงก่อเกิดขึ้นมาด้วยเหตุผลดังกล่าวข้างต้น

       บ้านมอญ เป็นชุมชนชาวมอญที่อพยพโยกย้ายมา จากชุมชนมอญย่านปากเกร็ด จังหวัดนนทบุรี และย่านสามโคก จังหวัดปทุมธานี แต่ไม่มีการจดบันทึกเหตการณ์เอาไว้อย่างชัดเจน ว่าอพยพมาเมื่อใด ปีไหนแน่ มีเพียงคำบอกเล่าของคนเฒ่าคนแก่ และความเป็นเครือญาติของคน ในชุมชนเหล่านี้ ที่ยังคงมีการไปมาหาสู่ถึงกันไม่ขาดสาย

       ชาวมอญ ที่ปากเกร็ด และสามโคกส่วนใหญ่มีอาชีพคล้าย ๆ คนไทยโดยทั่วไป ได้แก่ ทำนา ทำสวน และทำเครื่องปั้นดินเผา ทำอิฐมอญ ในอดีตอาชีพเครื่องปั้นดินเผานั้น นับว่าสำคัญเป็นอย่างยิ่ง เพราะภาชนะต่าง ๆ ภายในครัวเรือนล้วนเป็นดินเผาทั้งสิ้น ซึ่งอาชีพดังกล่าวได้ก่อให้เกิดอีกอาชีพหนึ่งตามมา คือ พ่อค้าโอ่ง และการค้าขายเครื่องปั้นดินเผาทางเรือ ทำให้ชุมชนมอญบริเวณลุ่มน้ำเจ้าพระยา ตลอดทั้งสาย ลุ่มน้ำท่าจีน และลุ่มน้ำป่าสัก มีการเชื่อมโยงแลกเปลี่ยนสินค้ากันเสมอ   และบ่อยครั้ง ลงท้ายด้วยการแต่งงานระหว่างคนมอญ ในชุมชนเหล่านั้น กล่าวคือในอดีตชาวมอญปากเกร็ดและสามโคก มักเดินทางขึ้นเหนือลำน้ำเจ้าพระยาไปขายเครื่องปั้นดินเผาอยู่เสมอ รวมทั้งย่านจังหวัดนครสวรรค์นี้ด้วย เมื่อเครื่องปั้นดินเผาหมด ก็จอดเรือเลือกทำเลถางป่าทำการเพาะปลูกข้าว และพืชไร่ เมื่อข้าวและพืชผักให้ผลผลิต ก็จะเก็บเกี่ยวลงเรือกลับปากเกร็ด และสามโคก แต่ภายหลังสภาพเส้นทางการคมนาคมเปลี่ยนแปลงไป มีการสร้างเขื่อนขวางลำน้ำ เส้นทางคมนาคมทางรถยนต์สะดวกขึ้น จึงลงหลักปักฐานเป็นการถาวร ในพื้นที่จังหวัดนครสวรรค์ และอีกหลายจังหวัดที่อยู่ริมน้ำเจ้าพระยา และลุ่มน้ำป่าสัก
       โดยเฉพาะในเขตจังหวัดนครสวรรค์นั้น มีชุมชนมอญกระจายอยู่ในเขตอำเภอเมือง อำเภอโกรกพระ และอำเภอพยุหคีรี (บ้านเขาทอง ตำบลเขาทอง อำเภอพยุหคีรี ยังคงมีการรวมตัวกันของชาวมอญ จัดตั้งชมรมอนุรักษ์ฟื้นฟูประเพณีมอญ เช่น จัดงานสงกรานต์ อันเป็นที่รู้จักแพร่หลาย ในจังหวัดนครสวรรค์ทุกวันนี้)

                              " น้ำชาหงส์ ” ผลิตภัณฑ์หนึ่งตำบลหนึ่งผลิตภัณฑ์ ( OTOP) บ้านมอญ ตำบลบ้านแก่ง จ.นครสวรรค์

       โดยเฉพาะในเขตอำเภอเมืองนครสวรรค์ มีชุมชนมอญที่มีเอกลักษณ์ทางวัฒนธรรม และประเพณีมอญที่โดดเด่น ได้แก่ “ ชุมชนมอญบ้านมอญ ” ตำบลบ้านแก่ง ซึ่งชาวบ้านทั่วไป ยังเรียกขานชื่อชุมชนแห่งนี้ว่า “ บ้านมอญ ” ที่สำคัญชาวมอญที่นี่ ยังคงสืบทอดงานเครื่องปั้นดินเผาที่ได้รับการสืบทอดมา จากบรรพชนมอญติดตัวมา ตั้งแต่รามัญประเทศ มายังเมืองสามโคก จังหวัดปทุมธานี และกระทั่งปักหลักอยู่ที่ บ้านมอญ ตำบลบ้านแก่ง อำเภอเมือง จังหวัดนครสวรรค์แห่งนี้จวบจนปัจจุบัน

 

เว็บไซต์นี้ แสดงผลได้ดี บนความละเอียด 800x600 Text Size Medurm
สร้างสรรค์โดยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ปีการศึกษา2549
โรงเรียนนวมินทราชูทิศ มัชฌิม อำเภอเมืองฯ จังหวัดนครสวรรค์ 60000