สถานที่ท่องเที่ยว

     วัดเขาหน่อ

       สถานที่ตั้ง ตั้งอยู่เลขที่ 233 บ้านเขาหน่อ หมู่ 2 ตำบลบ้านแดน อำเภอบรรพตพิสัย จังหวัดนครสวรรค์ มีเนื้อที่ 79 ไร่ 3 งาน 22 ตารางวา อาณาเขตทิศเหนือยาว 500 วา ติดต่อกับภูเขาทิศใต้ยาว 400 วา ติดกับทางสาธารณะ ทิศตะวันออกยาว 80 วา ติดต่อกับลำคลอง ทิศตะวันตกยาว 20 วา ติดต่อกับภูเขา มีที่ดินธรณีสงฆ์ จำนวน 4 แปลง เนื้อที่ 29 ไร่ 8 ตารางวา ซึ่งอยู่บริเวณเดียวกัน อันได้แก่ เขาหน่อ เขาแก้ว เขาคลาน เขาขี้ตอก เขาเขียว เขากระเด็น และเขานางพันธุรัตน์ โดยเฉพาะเขาหน่อ มียอดสูงที่สุดในบรรดาเขาที่อยู่บริเวณเดียวกันอีกทั้งมีรอยพระพุทธบาทจำลองประดิษฐานอยู่บนยอดเขามาแต่โบราณกาลจึงได้นำชื่อของเขาลูกนี้มาตั้งชื่อของวัดว่า “ วัดเขาหน่อ ”

      ประวัติวัดเขาหน่อสร้างขึ้นเมื่อใดไม่ปรากฏหลักฐานแน่ชัด แต่จากหลักฐานทางโบราณคดีที่ค้นพบ เช่น พระพุทธรูปสมัยสุโขทัย ถ้วยชามสังคโลก รอยพระพุทธบาทจำลอง ซึ่งประดิษฐานอยู่บนยอดเขาหน่อ และพระพุทธไสยาสน์ในถ้ำพระนอน สันนิษฐานว่าน่าจะสร้างขึ้นสมัยกรุงสุโขทัยเป็นราชธานี หรือประมาณ 800-1,000 ปี มาแล้ว ในราวปี พ . ศ . 2452 สมเด็จพระพุทธเจ้าหลวง พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่5ทรงเสด็จพระราชดำเนินมายังวัดนี้ ทรงเยี่ยมพสกนิกรทางชลมารค โดยได้เสด็จจากท่าน้ำบ้านแดนตอนย่ำรุ่ง แล้วเสด็จพระราชดำเนินไปตามถนนจนถึงวัดเขาหน่อ ระยะทาง 87 เส้น เสด็จขึ้นเขาทรงฉายพระรูปแล้วประทับที่ถ้ำพระพุทธไสยาสน์ ( ถ้ำนอน )จนถึงเวลา 3 โมงเศษ จึงได้เสด็จกลับ

     วัดเขาหน่อ ได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมา เมื่อวันที่ 10 สิงหาคม พ . ศ . 2491 ต่อมาอุโบสถ์ชำรุดทรุดโทรม ทางวัดได้ทำการบูรณะปฏิสังขรณ์ใหม่และได้รับพระราชทานวิสุงคามสีมาอีกครั้ง เมื่อปี พ . ศ . 2530ความสำคัญ ในสมัยโบราณ เมื่อถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 5 ของทุกปี จะมีชาวบ้านที่อาศัยอยู่ในละแวกนั้น และจังหวัดใกล้เคียง เช่น พิจิตร กำแพงเพชร สุโขทัย ตาก ชัยนาท ลพบุรีอุทัยธานีและนครสวรรค์จะเดินทางมานมัสการปิดทองรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาหน่อ สมัยก่อนการคมนาคมไม่สะดวก ต้องเดินด้วยเท้าการเดินทางใช้เวลามากต้องหยุดพักแรมบริเวณเชิงเขานางพันธุรัตน์ก่อนรุ่งเช้าจึงขึ้นบนเขาหน่อแวะนมัสการพระพุทธไสยาสน์ในถ้ำพระนอน จากนั้นก็จะปีนขึ้นไปบนยอดเขาปิดทองนมัสการรอยพระพุทธบาทที่ประดิษฐานอยู่บนนั้น สมัยก่อนยังไม่มีทางเดินขึ้นถึงยอดเขา เวลาจะขึ้นต้องมีคนอาสาปีนขึ้นไปคนหนึ่งก่อน แล้วเอาเชือกมัดไว้กับก้อนหินใหญ่ก้อนหนึ่งบนยอดเขาจากนั้นคนอื่น ๆ ก็จะไต่เชือกตามขึ้นไป ใครขึ้นไปนมัสการปิดทองรอยพระพุทธบาทบนยอดเขาได้ถือกันว่าได้กุศลแรง คนที่มาในงานนี้จึงนิยมใส่เสื้อสีแดง เพื่อจะได้มองเห็นชัดเป็นที่สดุดตาเวลาปีนขึ้นไปบนยอดเขา พอกลางคืนก็นัดกันมาชุมนุมกันที่ลานโล่งซึ่งช่วยกันถางเตรียมไว้ จุดไต้ตะเกียงร้องรำทำเพลงเป็นที่สนุกสนานและเป็นการสมโภชงานปิดทองไหว้พระไปในตัว ใครเล่นเพลงฉ่อยได้ก็ไปรวมกลุ่มกับพวกเพลงฉ่อย ใครชอบเพลงระบำชาวไร่ ก็จับกลุ่มเล่นกันไป ใครถนัดทางรำตัดก็ตั้งวงว่าแก้กันไป ใครเล่นอะไรไม่ได้ก็เป็นคนดูงานวัดเขาหน่อจึงเริ่มขึ้นนับแต่บัดนั้นเป็นต้นมา และมีติดต่อกันทุกปีจนกลายเป็นประเพณีจนถึงวันแรม 1 ค่ำ เดือน 5 ปีมะเมีย พ . ศ . 2461 ผู้คนไปนมัสการปิดทองรอยพระพุทธบาทที่วัดเขาหน่อมากมายเช่นทุกปี ระหว่างที่หลายคนไต่เชือกขึ้นไปบนยอดเขา

        ปัจจุบันการไปวัดเขาหน่อสะดวกสบายมาก มีถนนลาดยางแยกจากถนนพหลโยธินเข้าถึงวัดประมาณ 2 กิโลเมตร มีบันไดขึ้นไปถึงถ้ำพระนอน และมีทางเล็ก ๆ ขึ้นไปบนยอดเขาถึงที่ประดิษฐานรอยพระพุทธบาท ไม่ต้องไต่เชือกและไม่มีอันตรายเหมือนสมัยก่อนวัดเขาหน่อนอกจากเป็นสถานทีสงบวิเวกเหมาะแก่การปฏิบัติธรรมแล้วยังมีธรรมชาติที่สวยงามของป่าเขาและถ้ำน้อยใหญ่มากมายเป็นสถานที่ซึ่งการท่องเที่ยวแห่งประเทศไทยขึ้นทะเบียนเป็นแหล่งท่องเที่ยวไว้แล้ว

ถ้ำบริเวณวัดเขาหน่อ มีดังนี้

- ถ้ำพระพุทธไสยาสน์ เป็นถ้ำอยู่หน้าวัดเขาหน่อ เป็นที่สักการะของชาวบ้านละแวกใกล้เคียง

และผู้มาเยือน พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว รัชกาลที่ 5 ได้เคยเสด็จมาที่ถ้ำแห่งนี้ นอกจาก

เสด็จมาประทับที่ถ้ำแห่งนี้แล้ว พระองค์ยังได้พระราชทานปิ่นโตเถาใหญ่ 1 เถา เถาเล็ก 1 เถา ตะเกียง

1 ดวง และเครื่องหมายยุทธการ ของพระราชทานดังกล่าวปัจจุบันยังเก็บรักษาไว้ที่วัดเขาหน่อ

- ถ้ำปลา เป็นถ้ำที่อยู่กลางภูเขามีน้ำใสสะอาด สามารถมองเห็นตัวปลาได้ชัดเจน

- ถ้ำเพชร มีความสวยงามตระการตา ผู้ใดเข้าไปเที่ยวชนจะรู้สึกเหมือนว่ามีประกายเพชรวูบวาบอยู่รอบ ๆ ตัว

- ถ้ำเทวดา พื้นที่บริเวณถ้ำมีความสะอาดสวยงามราวกับมีเทวดาอารักษ์คอยปัดกวาดอยู่ตลอดเวลา

- ถ้ำกาหลง เป็นถ้ำที่มีสภาพวกไปวนมาอาจเดินหลงทางได้

- ถ้ำเขาทะลุ เป็นถ้ำที่มีปากถ้ำกว้างใหญ่แลเห็นเป็นอุโมงค์มองทะลุออกไปอีกฟากหนึ่ง

- ถ้ำจระเข้ เป็นถ้ำที่มีรูปหินคล้ายจระเข้นอนยาวอยู่ในถ้ำ

- ถ้ำลับแล มีตำนานกล่าวว่า เป็นที่สิงสถิตย์ของคนลับแล มีเศษกระเบื้องลายคราม ปรากฏอยู่ เพราะครั้งหนึ่งเคยมีชาวบ้านไปขอยืมถ้วยชามของคนลับแลมาใช้แล้วไม่คืนตามที่รับปากไว้ ชาวลับแลจึงปิดปากถ้ำไม่ให้ใครเข้าไปอีก ก่อนวันจะมีงานปิดทองฝังลูกนิมิตของวัดเขาหน่อ ในวันที่ 1-9 มีนาคม พ . ศ . 2533 มีคนเล่าว่าได้ยินเสียงบรรเลงพิณพาทย์ ฆ้อง กลอง ในท่วงทำนองไพเราะจับใจ ดังแว่วมาจากทางด้านหลังถ้ำลับแล

- ถ้ำน้ำ หรือถ้ำวารีสวรรค์ กล่าวกันว่า เป็นถ้ำที่มีหยดน้ำย้อยจากหน้าผาลงสู่พื้นถ้ำจนกลายเป็นแอ่งน้ำใสสะอาด

- ถ้ำค้างคาว อยู่ที่เขาแก้ว ใกล้กับวัดเขาหน่อ ภายในถ้ำมีค้างคาวอาศัยอยู่จำนวนมาก เวลา

ใกล้ค่ำค้างคาวจะออกหากิน ทยอยกันบินออกนอกถ้ำมองเห็นเป็นแนวโค้งสีดำไปจนสุดสายตา เป็นภาพที่น่าชนอย่างยิ่ง

- ถ้ำชีปะขาว เป็นถ้ำที่เคยมีชีปะขาวชื่อ “ ชีปะขาวอู่ ” เป็นผู้มีวิชาอาคมแก่กล้ามาบำเพ็ญภาวนา และครั้งหนึ่งพระยาโกษาธิบดีเหล็ก และพระยาโกษาธิบดีปาน ได้เดินทางมาขอวิชาอาคมจากชีปะขาวอู่ที่ถ้ำนี้ ก่อนเดินทางไปเจริญสัมพันธไมตรีกับประเทศฝรั่งเศสในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราช   นอกจากนี้ ที่ยอดเขาหน่อยังมีมณฑปสร้างด้วยศิลาแลง เป็นที่ประดิษฐานของรอยพระพุทธบาท

จำลองที่เป็นปรากฏการณ์ทางธรรมชาติ บริเวณรอบ ๆ รอยพระพุทธบาทจำลองจะมีรอยเท้าช้างเหยียบย่ำทั่วไปอย่างเด่นชัด

บนยอดเขาหน่อมีแท่นหินเป็นลานกว้างใหญ่เรียกว่า “ แท่นนางพันธุรัตน์ ” อยู่บนยอดดอย

พันธุรัตน์ เป็นเขาหัวโล้นมีตำนานกล่าวว่า นางพันธุรัตน์ ( ยักษ์ ) ที่เป็นมารดาเลี้ยงของพระสังข์ในเรื่องสังข์ทอง ได้เหาะตามพระสังข์จนพบและพยายามอ้อนวอนให้พระสังข์กลับ แต่พระสังข์ไม่กลับนางก็เลย

กลั้นใจตาย แต่ก่อนจะตายนางได้สลักคาถาเรียกปลาไว้ที่แท่นหิน เมื่อนางตายแล้วพระสังข์ได้นำร่างของนางไปเผาที่บนดอย ทำให้ยอดดอยมีปรากฏการณ์ธรรมชาติคล้ายถูกไฟเผาอยู่ตลอดกาล

ปัจจุบันเจ้าอาวาสวัดเขาหน่อคือ “ พระครูนิปุณธรรมาภรณ์ ” ( หลวงพ่อขาล )

 

 

 

 

 

 

 

 

 
   
 
เว็บไซต์นี้ แสดงผลได้ดี บนความละเอียด 800x600 Text Size Medium
สร้างสรรค์โดยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5  ปีการศึกษา 2549
โรงเรียนนวมินทราชูทิศ มัชฌิม อ.เมือง จ.นครสวรรค์