ความเป็นมาเมืองวิเชียรบุรี

+ ท่าโรง
+ ท่าน้ำ
+ หนองไข่น้ำ
+ บ้านนาไร่เดียว
+ สนามบิน
+ มาบสมอ

>> ท่าโรง <<
อำเภอวิเชียรบุรีเดิมเรียกว่า “เมืองท่าโรง” หรือ “เมืองศรีเทพ” ในสมัยพระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว เมื่อครั้งปราบกบฏเมืองเวียงจันทร์ พระศรีถมอรัตน์มีความชอบมาก จึงโปรดให้ยกเมืองศรีเทพหรือเมืองท่าโรง เปลี่ยนนามมาเป็น เมืองวิเชียรบุรี ตามชื่อเขาแก้วหรือเขาถมอรัตน์
เมื่อตอนมณฑณเพชรบูรณ์สมัยสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวรัชกาลที่๕ลดฐานะเมืองวิเชียรบุรีเป็นอำเภอหนึ่งในจังหวัดเพชรบูรณ์ตามพระราชกฤษฎีกาลงวันที่๑๗เมษายน๒๔๘๒เปลี่ยนชื่อเป็น“เมืองท่าโรง”ตามชื่อเดิมในประวัติศาสตร์สันนิษฐานว่าอาจจะมาจากคำว่า“ท่าลง”หรือ“ท่าลงเรือแม่น้ำป่าสัก”ต่อมาได้เปลี่ยนชื่อกลับมาเป็นอำเภอวิเชียรบุรีอีกครั้งหนึ่งเมื่อวันที่๒พฤศจิกายน๒๔๘๗มาจนถึงวันนี้ประชาชนชาวอำเภอวิเชียรบุรีจึงได้ตกลงใจตั้งชื่อตำบลนี้เพื่อไม่ให้ลืมเมืองท่าโรงว่า“ตำบลท่าโรง”เพื่อเป็นอนุสรณ์เตือนใจ.

>> ท่าน้ำ <<
ผู้ ให้สัมภาษณ์ชื่อ นางเอี่ยม พูลสวัสดิ์ อายุ ๘๑ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๘๕ หมู่ที่ ๑๓ ตำบลท่าโรง อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้เล่าให้ฟังว่า คำว่าท่าน้ำในที่นี้หมายถึงแม่น้ำป่าสัก ตั้งอยู่หมู่ที่ ๑๓ ตำบลท่าโรง อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ซึ่งไหลผ่านอำเภอวิเชียรบุรี ด้านทิศใต้ เป็นแม่น้ำที่ชาวบ้านอำเภอวิเชียรบุรี ใช้เป็นทางคมนาคม ใช้ในการอุปโภคบริโภค เป็นที่ซื้อสินค้า สมัยก่อนจะมีพ่อค้า ชื่อ นายจัง ประมูลศิลป์ บ้านเลขที่ ๓๙ หมู่ที่ ๓ ตำบลท่าโรง เป็นพ่อค้าคนจีนตั้งร้านขายของเป็นร้านแรกของอำเภอวิเชียรบุรี คอยซื้อสินค้าทางเรือสินค้าเวลาน้ำหลาก จะมีเรือยนต์ซึ่งเป็นเรือสินค้าจากจังหวัดอยุธยา จังหวัดสระบุรี ขนสินค้าจากกรุงเทพฯ เพื่อไว้ขายและกักตุนในเวลาน้ำลดเพราะ ที่อำเภอวิเชียรบุรี จะเป็นป่ารกมาก ทางก็เป็นทางเกวียนจึงใช้ทางน้ำเป็นสายหลักในการดำรงชีพและสะดวกกว่า มีประชากรจับที่สร้างบ้านโดยยึดแม่น้ำเป็นสำคัญอยู่ริมแม่น้ำ ประมาณ ๗๐ หลังคาเรือน เนื่องจากสะดวกในการอุปโภค และใช้เป็นที่หาปลากินและขายเป็นอาชีพหลัก และที่สำคัญที่สุดของแม่น้ำป่าสักคือ ใช้อุปโภค เป็นสาเหตุที่เรียกหมู่บ้านนี้ว่า “หมู่บ้านท่าน้ำ” และจะมีวัดเก่าแก่ตั้งอยู่บริเวณริมแม่น้ำป่าสักด้านทิศเหนือ คือ วัดท่าน้ำ ปัจจุบันเรียกว่า วัดวิเชียรบำรุง สำหรับคนวิเชียรบุรีโดยกำเนิดจะเรียกกันติดปากว่า “วัดท่าน้ำ” ซึ่งเป็นชื่อของหมู่บ้านท่าน้ำนั่นเอง


>> หนองไข่น้ำ <<
ผู้ให้สัมภาษณ์ชื่อ นางสวิง เหรียญคำ อายุ ๘๓ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๓๘/๑ หมู่ที่ ๒ ตำบลท่าโรง อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ ได้เล่าความเป็นมาของหมู่บ้านหนองไข่น้ำว่า เมื่อ ๕๐ ปีก่อนเดิมเป็นป่าทึบใหญ่ บ้านคนไม่ค่อยมีมากนัก ป่าไม้เต็ง ไม้พวง มีสัตว์ป่านานาชนิด มีอาหารป่าจำพวกพืชผัก เช่น เห็ดต่าง ๆ ผังหวาน ผลไม้ป่าเช่น ลูกกระทบ ลูกตระค้อ ลูกตะขบ ลูกหวาย เป็นต้น และยังมีหนองน้ำขนาดใหญ่ ซึ่งมีน้ำขังตลอดทั้งปีและมีไข่น้ำ ชาวบ้านที่อาศัยอยู่นั้น จะใช้น้ำจากหนองน้ำนั้น และยังสามารถนำไข่น้ำซึ่งเป็นเม็ดเล็ก ๆ เหมือนไข่ปลาที่กระจายออกจากรังไข่ปลา เป็นเม็ดสีเขียว ในหนองน้ำนั้นมาแกงเป็นอาหารได้อีกด้วย มีครอบครัว นายพุฒ อินทรักษ์ ซึ่งเป็นชาวโคราช ได้มาอยู่อาศัยหมู่บ้านนี้เป็นครอบหลังแรก หลังจากนั้นก็มีประชาชนจากทุกสารทิศ พากันอพยพเข้ามาอาศัยอยู่ แล้วได้เรียกหมู่บ้านนี้ว่า หนองไข่น้ำ ตามสภาพของหนองน้ำขนาดใหญ่ที่มีไข่น้ำ และน้ำใช้ตลอดทั้งปี และได้เรียกชื่อหมู่บ้านหนองไข่น้ำมาจนถึงทุกวันนี้


>> บ้านนาไร่เดียว <<
ผู้ให้สัมภาษณ์ชื่อ นายเสน ไชยคำภา อายุ ๖๕ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๕๙๒ หมู่ที่ ๖ ตำบลท่าโรง อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ มีอาชีพทำนา ได้เล่าความเป็นมาของหมู่บ้านดังนี้
ในสมัยก่อนนั้นก่อนที่จะมาเป็นหมู่บ้านนาไร่เดียวในปัจจุบันนี้ตอนนั้นเป็นป่ารกทึบมีสัตว์ป่าเป็นแหล่ง
ที่มีความอุดมสมบูรณ์ บุคคลที่ค้นพบและตั้งถิ่นฐานคนแรก คือ พ่อใหญ่ใบ มีอาชีพทำนา ท่านย้าย
ถิ่นฐานมาจากภาคอีสาน จังหวัดกาฬสินธุ์ ซึ่งที่จังหวัดกาฬสินธุ์มีความแห้งแล้งและขาดแคลนทรัพยากร
แหล่งทำมาหากิน จึงทำให้ท่านแสวงหาแหล่งทำมาหากินแหล่งใหม่ท่านจึงมาพบที่แห่งนี้และได้ตั้งถิ่นฐานใกล้ ๆ หนองน้ำ และมีต้นมะม่วงล้อมรอบสระน้ำแห่งนี้จึงเป็นที่มาของชื่อสระ คือ สระม่วง ติดกับวัดในเรือง ศรี ซึ่งข้างสระมีนาอยู่หนึ่งไร่ ท่านได้ทำการเกษตร คือ ปลูกผัก และทำนา จึงเป็นที่มาของบ้านนาไร่เดียว ต่อมาจึงมีผู้ย้ายถิ่นฐานมาอยู่ซึ่งส่วนใหญ่จะย้ายมาจากทางภาคอีสาน


>> สนามบิน <<
ผู้ให้สัมภาษณ์ ชื่อ นางพยอม สิงหฬ อายุ ๗๙ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๓ หมู่ที่ ๑ ตำบลท่าโรง อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ เป็นข้าราชการบำนาญ ได้เล่าความเป็นมาของหมู่บ้านสนามบินว่า เมื่อสมัยสงครามโลกครั้งที่ ๒ มีทหารพาครอบครัวอพยพมาจากจังหวัดลพบุรี ทั้งกองพล ประมาณ ๒,๐๐๐ ถึง ๓,๐๐๐ คน หลบภัยมาตั้งค่ายที่หมู่บ้านท่าโรง ซึ่งปัจจุบันเรียกว่าบ้านสนามบิน และสร้างสนามบินขึ้นเพื่อลำเลียงทหารอพยพมาหลบภัย ซึ่งบ้านท่าโรงขณะนั้นมีป่าทึบบ้านคนไม่ค่อยมีมากนัก ทำให้ทหารญี่ปุ่นไม่สงสัย เพราะถ้าทหารญี่ปุ่นพบทหารไทยจะฆ่าบ้างหรือจับไปเป็นเฉลยบ้าง ข่มเหงฉุดลูกเมียทหารไปข่มขืนบ้าง มีอยู่วันหนึ่งทหารญี่ปุ่นมาเต็มคันรถ ถึงท่าน้ำซึ่งเป็นแม่น้ำป่าสัก ยังไม่มีสะพานข้ามจึงจอดถามชาวบ้านละแวกนั้นว่า มีทหารมาพักแถวนี้หรือไม่ ชาวบ้านช่วยกันปิดบังทหารญี่ปุ่นว่าไม่มีเขาเลยกลับไป เมื่อสงครามสงบทหารก็อพยพกลับลพบุรี และบางคนก็มีครอบครัวอยู่ที่วิเชียรบุรี และผู้ให้สัมภาษณ์เองก็เป็นภรรยาของทหารอพยพด้วย
ในวันเด็กประจำปี ๒๕๐๓ ทหารจากลพบุรีได้จัดให้เด็กขึ้นเครื่องบินฟรี เที่ยวหนึ่งขึ้นได้ ๑ ชั่วโมง นางภัทธิรา เพ็ชรวงศ์ ผู้ให้ข้อมูลก็เป็นคนหนึ่งที่ได้ขึ้นเครื่องบินเป็นครั้งแรกในชีวิต ได้เห็นทิวทัศน์ของอำเภอวิเชียรบุรีสวยงามมาก และมีทหารกระโดดล่มให้เด็ก ๆ ดู ทุกคนสนุกสนาน ทุกวันนี้ส่วนหนึ่งของสนามบินก็ได้สร้างเป็นศาลสมเด็จพระนเรศวรมหาราช มีเนื้อที่ประมาณ ๓๕ ไร่ ซึ่งพระองค์ท่านเคยยกกองทัพมาประทับพักแรมอยู่บริเวณหน้าสถานีตำรวจภูธร อำเภอวิเชียรบุรี และได้สร้างที่ประทับให้พระองค์ท่าน ต่อมาปี พ.ศ. ๒๕๒๖ ประชาชนพร้อมใจกันย้ายที่ประทับศาลสมเด็จฯ มาตั้งอย่างสมพระเกียรติไว้ที่สนามบิน ทำให้หมู่บ้านท่าโรง หมู่ที่ ๑๖ หรือที่เรียกกันติดปากว่า “สนามบิน” ซึ่งมีเนื้อที่ประมาณ ๑,๐๐๐ ไร่เศษ


>> มาบสมอ <<
ที่ตั้งหมู่บ้านมาบสมอ อยู่หมู่ที่ ๑๔ ตำบลท่าโรง อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์
ผู้ให้สัมภาษณ์ ชื่อ นายแกน กุมพล อายุ ๖๙ ปี อยู่บ้านเลขที่ ๔๔๐ หมู่ที่ ๑๔ ตำบลท่าโรง อำเภอวิเชียรบุรี จังหวัดเพชรบูรณ์ อาชีพทำนา อดีตเคยเป็นผู้ใหญ่บ้าน ได้เล่าความเป็นมาของหมู่บ้านมาบสมอว่า เดิมมีบ้านอยู่ ๒ ครอบครัว ชื่อ นายพุธ แจ้งสมบูรณ์ และนายหวล เดขุนทด มาตั้งบ้านเรือนทำมาหากิน อยู่บริเวณที่มีต้นสมอขึ้นเต็มไปหมด ต่อมามีคนชักชวนเพื่อนบ้านเข้ามาอาศัยอยู่มากขึ้น เนื่องจากมีความอุดมสมบูรณ์มาก ประชากรส่วนใหญ่อพยพมาจากจังหวัดนครราชสีมา และจังหวัดใกล้เคียงอื่นๆรวมทั้งชาวจีน นายพุธและนายหวลเป็นผู้นำตั้งชื่อหมู่บ้าน ได้ปรึกษากันตั้งชื่อหมู่บ้าน เนื่องจากมีต้นสมอมาก จึงตั้งชื่อหมู่บ้านว่า “ บ้านมาบสมอ “ ตั้งแต่ปี พ.ศ.๒๕๑๖ เป็นต้นมา


 
   
     
 

เว็บไซต์นี้ แสดงผลได้ดี บนความละเอียด 800 x 600 Text Size Medium
สร้างสรรค์โดยนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 ปีการศึกษา 2551
โรงเรียนนวมินทราชูทิศ มัชฌิม อ.เมือง จ.นครสวรรค์