ประวัติศาสตร์เมืองเพชรบุรี

 
เพชรบุรีเป็นเมืองเก่าแก่ที่มีความสำคัญทั้งทางด้านการเมือง เศรษฐกิจ และศิลปวัฒนธรรม มาตั้งแต่โบราณ ดังจะเห็นได้จากหลักฐานทางโบราณวัตถุ โบราณสถาน และศิลาจารึก ทั้งของไทยและของขอม ตลอดจนบันทึกของหลวงจีนที่เดินผ่านเมือง “ศรีชยวัชรบุรี” ในศิลาจารึกประสามพระขรรค์ ที่พบในเมืองพระนคร ในสมัยพระเจ้าชัยวรมันที่ 7 พ.ศ. 1734

เมืองเพชรบุรี สร้างขึ้นในยุคสมัยใดไม่มีหลักฐานปรากฏแน่นชัด แต่มีข้อความเกี่ยวกับความเป็นมาของเมืองนี้ในตำนานเมืองเพชรบุรี ฉบับราชบุรี พ.ศ. 2568 ความว่า
แต่ในกาลปางก่อนดึกดำบรรพ์โพ้น พระนครเพ็ชรบุรีเป็นเมืองมีกษัตริย์สมมุติราชครอบครองมาเป็นลำดับๆ เป็นเมืองเกษมสารพร้อมสรรพด้วยความสนุกสำราญรื่นรมย์ ทุกประการ มั่งคั่งด้วยคุณสมบัติและทรัพย์ศฤงคาร ทั้งมีปาโมชอาจารย์เป็นประทานทิศ สั่งสอนสานุศิษย์บรรลุศิลปวิทยาคาถา อาคม เวททางค์ศาสตร์สำเร็จอิทธิฤทธิ์ เป็นเมืองมีเกียรติยศไพศาลแผ่เผยเดชานุภาพ ความมั่งคั่งสมบูรณ์ไปในนาๆ ชาติทั้งหลายปราศจากภัยอันตรายศัตรูหมู่ปรปักษ์เสี้ยนหนามชาวเมืองเกษมสำราญบานใจไพร่ฟ้าหน้าใสทั่วหน้า มีฝูงชนกล่นเกลือนล้นหลามไปทั่วทุกภูมิลำเนามากมายด้วยชาวเจ้าและพวกพ่อค้านานาชนิดแขกเมืองมาพึ่งพาค้าขายสินค้าใหญ่ที่เป็นประธานทรัพย์นับว่าขึ้นชื่อ ฤาชา คือ ป่าตาล ดงตาล มีอยู่ทั่วอาณาเขตต์ มีโคตรเพ็ชร์อันเตร็ด ตรัด จำรัสศรี เพลากลางราตรี ส่องแสงสว่างพราวราวกับดาวประดับเขา บังเกิดมีปรากฏขึ้นเป็นเดิม ณ ยอดเขาใหญ่ด้านดินแดน ได้อาศัย แสงเพ็ชร์ พลอยแห่งภูเขานั้นเป็นเหตุภูเขานั้น จึงได้สมญาพิเศษเรียกว่า เขาแด่น คือแลดูด่างพร้อย เพราะเหตุเพ็ชร์พลอย ปรากฏแล้ว ณ ยอดภูเขา นั้นท่านโบราณกษัตริย์ทั้งหลาย ผู้เป็นต้น ก่น สร้างพระนคร จึงขนานนามกรเมืองนั้นว่า เมืองเพ็ชรบุรี กระนี้แล

จากหลักฐานทางโบราณวัตถุและโบราณคดีที่พบในบริเวณเมืองเพชรบุรี นักโบราณคดีเชื่อว่า เมืองเพชรบุรีเป็นเมืองหนึ่งในยุคสุวรรณภูมิ ของอาณาจักรฟูนันในพุทธศตวรรษที่ 6-12 ดินแดนเหล้านี้น่าจะมีกษัตริย์ปกครองเมืองที่มีหลักฐานดังกล่าวนี้มี 5 เมือง คือ นครไชยศรี ราชบุรี กาญจนบุรี ตะนาวศรี และเพชรบุรี ดินแดนเหล่านี้ตามจดหมายเหตุจีน เรียกว่า ตุนสุน บางช่วง บางสมัยก็เป็นรัฐอิสระ บางสมัยก็เป็นแบบนครรัฐ เมืองเพชรบุรีคงมีความเจริญสืบมาจนถึงสมัยของอาณาจักรทวาราวดี ในสมัยพุทธศตวรรษที่ 11-16 อาณาจักรนี้มีกล่าวไว้ในจดหมายเหตุจีน และจดหมายเหตุการเดินทางของหลวงจีน เรียกอาณาจักรนี้ว่า โต โล โป ตี้ (TO-LO-PO-TI) ซึ่งรวมเมือง ราชบุรี เพชรบุรี คูบัว พงตึก นครปฐม กำแพงแสน ลพบุรี นครสวรรค์ ลำพูน ฯลฯ นักโบราณคดีเชื่อกันว่าชนชาติที่อาศัยอยู่ในแถบนี้เป็นชนชาติมอญ และสันนิษฐานว่าเมืองหลวงของอาณาจักร อาจอยู่ที่ นครปฐม หรือเมืองอู่ทอง เพราะทั้งสองแห่งได้พบโบราณสถานขนาดใหญ่ปรากฏอยู่

จากตำนานเมืองนครศรีธรรมราช ได้กล่าวถึงเรื่องราวการสร้างเมืองเพชรบุรีสอดคล้องกับ บันทึกของ ลาลูแบร์ ว่าพระพนมทะเล มเหสวัสดิทราธิราช (ในจดหมาย ลาลูแบร์ ว่ามีพระนามว่าพระพนมทะเลไชยศิริ) เป็นผู้สร้างเมืองเพชรบุรี โดยได้นำคนจำนวน สามหมื่นสามพันคน ช้างพังพลายห้าร้อยเชือก ม้าเจ็ดร้อยตัวมาสร้างพระราชวังขึ้น และต่อมาได้โปรดให้พระโอรสของพระองค์ทรงพระนามว่า พระพนมวังไปสร้างเมืองนครดอนพระโดยพระราชทานคนเจ็ดร้อยคน แขกห้าร้อยคน ช้างสามร้อยเชือก ม้าสองร้อยตัว เพื่อไปสร้างเมืองและพระธาตุ จากตำนานเรื่องนี้แสดงว่า เมืองเพชรบุรีเจริญรุ่งเรืองและเป็นเมืองสำคัญที่มีอำนาจมากเมืองหนึ่ง พระโอรสของกษัตริย์เมืองนี้ได้ไปสร้างเมืองศิริธรรมนคร หรือนครศรีธรรมราชและสร้างพระบรมธาตุเมืองนครด้วย จากคำให้การของชาวกรุงเก่า ได้กล่าวว่าพระอินทราชา เป็นผู้สร้างเมืองเพชรบุรีขึ้น พระราชโอรสของพระองค์ทรงพระนามว่า พระเจ้าอู่ทองได้ครองสมบัติต่อมาและมีไมตรีกับพระเจ้าศรีธรรมโศกราช เจ้าเมืองศิริธรรมนครต่อมาเมืองเพชรบุรีเกิดข้าวยากหมากแพง ราษฎรอดอยากเกิดโรคภัยไข้เจ็บ พระเจ้าอู่ทองจึงทรงหาที่ตั้งเมืองใหม่ ณ ตำบลหนองโสน แล้วทรงตั้งชื่อเมืองใหม่ว่า “กรุงเทพมหานคร บวรทวาราวดี ศรีอยุธยา มหาดิลกบวรรัตนราชธานีบุรีรมย์” และทรงสถาปนาพระองค์ขึ้นเป็นพระเจ้ารามาธิบดีสุริยประทุมสุริยวงศ์

เรื่องเมืองเพชรบุรีนี้ พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงให้ข้อคิดเห็นว่า “เดิมเมื่อประมาณพันปีเศษมาแล้วเมืองเพชรบุรีมีกษัตริย์ปกครองเช่นเดียวกันกับเมืองนครศรีธรรมราช

ในสมัยสุโขทัย เพชรบุรีคงจะอ่อนกำลังลงและเป็นเมืองประเทศราชของอาณาจักรสุโขทัย ดังมีข้อความปรากฏในศิลาจารึกหลักที่ 1 ของพ่อขุนรามคำแหงว่า “เบื้องตะวันออกรอดสระหลวง สองแควลุ่มมลาย สคา เท่าฝั่งโขงถึงเวียงจัน เวียงคำ เป็นที่แล้วเบื้องหัวนอนรอดคนที พระบาง แพรก สุวรรณภูมิ ราชบุรี เพชรบุรี ศรีธรรมราช ฝั่งทะเลสมุทรเป็นที่แล้ว

จากบันทึกของจีน สมัยพระเจ้าหงวนสีโจ๊วฮ่องเต้ พ.ศ. 1837 มีข้อความว่า “กัมจูยือตัว แห่งเมืองปิกชิกปูลี สั่งทูตมาถวายเครื่องบรรณาการ” ซึ่งชื่อเมืองนี้บางฉบับเขียนเป็นปิกชิกปูลีเฮียะ หรือปิยะปูลี ซึ่งหมายถึง เมืองเพชรบุรีนั่นเอง และใน พ.ศ. 1934 สมัยรัชกาลพระเจ้าฮ่งบู้ ก็มีบันทึกของจีน กล่าวถึง “ประเทศริวกิวสยาม เปียกสิกโปปลี้ (เปะวีปาหลี่) กัศมิระ เข้าถวายบรรณาธิการ” ชื่อเมืองนี้ก็น่าจะเป็นเมืองเพชรบุรีซึ่งจะตรงกับรัชสมัยของพระมหาธรรมราชาที่ 2 ของอาณาจักรสุโขทัย

หลักฐานจากบันทึกของจีน แสดงว่าเมืองเพชรบุรีเป็นเมืองสำคัญมากเมืองหนึ่งในสมัยสุโขทัยโดยเฉพาะทางด้านการค้าขายทางทะเลกับต่างประเทศเจ้าผู้ครองเมืองเพชรบุรี สามารถแต่งเรือสินค้าไปค้าขายยังประเทศจีนได้

ในสมัยกรุงศรีอยุธยา เมืองเพชรบุรีสังกัดอยู่ในหัวเมืองตะวันตก เช่น เดียวกับเมืองราชบุรี นครไชยศรี สุพรรณบุรี กาญจนบุรี ศรีสวัสดิ์ ไทรโยค ดำกระดาน ทอดทำดี และทองผาภูมิ ในสมัยนี้เพชรบุรีเป็นเมืองท่าที่สำคัญอย่างมาก เนื่องจากทำเลที่ตั้งของเพชรบุรี เมืองเพชรบุรีตั้งอยู่ในคาบสมุทรอินโดจีน ซึ่งตั้งอยู่ระหว่างแหล่งอารยธรรมของจีนและอินเดีย แหล่งอารยธรรมทั้งสองมีการติดต่อกันตลอดเวลา โดยเฉพาะการติดต่อทางเรือจากอินเดียต้องมาขึ้นฝั่งที่พม่าแล้วข้ามลงเรือที่อ่าวไทย ในขณะเดียวกันการเดินทางจากจีนไปอินเดีย ก็ต้องเดินทางมาขึ้นบกที่อ่าวไทยด้วย เพชรบุรีเป็นเมืองที่ตั้งอยู่ในเส้นทางผ่านดังกล่าว นอกจากนี้เพชรบุรียังเป็นเมืองเก่าที่เชื่อมติดต่อระหว่างหัวเมืองฝ่ายเหนือและใต้ของไทย เรือสินค้าต่างๆ จะต้องจอดแวะพักก่อนจะเดินทางเข้าไปในเมืองหลวงหรือจะล่องไปในหัวเมืองฝ่ายใต้ หรือจะเดินทางเข้าไปค้าขายที่เมืองมะริด เมืองเมาะลำเลิงและหัวเมืองมอญ

นอกจากความสำคัญทางด้านเป็นเมืองท่าสำหรับการค้าขายแล้วเมืองเพชรบุรียังเป็นเมืองที่อุดมสมบูรณ์ทั้งข้าวปลาอาหาร และยังเป็นเมืองหน้าด่านสำคัญ ที่ข้าศึก เช่น เขมร และพม่าจะยกผ่านเพื่อเข้าไปตีกรุงศรีอยุธยา ดังนั้นเจ้าเมืองของเมืองเพชรุบรีจึงต้องมีความรู้ความสามารถหลายด้าน เช่น ทางด้านการรบ การปกครอง และการติดต่อค้าขายกับเมืองอื่นๆ

ในแผ่นดินสมเด็จพระมหาธรรมราชาธิราช (พ.ศ. 2112-2133) พระยาละแวกได้ยกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาถึง 3 ครั้ง โดยได้ยกทัพมาตีเมืองเพชรบุรี 2 ครั้ง ครั้งแรกในปี พ.ศ. 2113 ออกพระศรีสุรินทรฤาไชย เจ้าเมืองเพชรบุรี พร้อมด้วยกรมการเมืองได้ร่วมกันรักษาเมืองไว้ได้ ข้าศึกต้องถอยทัพกลับไป

ในปี พ.ศ. 2115 พระยาละแวกได้ยกทัพมาตีเมืองเพชรบุรีอีกครั้งหนึ่ง ครั้งนี้ออกพระศรีสุรินทรฤาไชยตายในที่รบ พระยาละแวกได้กวาดต้อนผู้คนและทรัพย์สินเป็นจำนวนมากไปยังเขมร เมืองเพชรบุรีเสียหายยับเยินในการศึกครั้งนี้

ในสมัยสมเด็จพระนเรศวรมหาราช (พ.ศ. 2133-2148) พระองค์เสด็จยกทัพไปตีเมืองเขมรและโปรดให้พระยาเพชรบุรีเป็นแม่ทัพกองเรือยกทัพไปตีเมืองป่าสักของเขมรได้แล้วยกทัพไปสมทบกับทัพพระยาราชวังสัน เข้าตีได้เมือง จัตุรมุข และยำไปสมทบกับทัพหลวงตีได้เมืองละแวก และในปี พ.ศ. 2138 สมเด็จพระนเรศวรมหาราช กับสมเด็จพระเอกาทศรถทรงยกทัพไปตีพม่าได้เมืองทะวาย ตะนาวศรีและหัวเมืองมอญ การศึกในครั้งนั้นโปรดให้พระยาเพชรบุรี นำทัพช้าง ม้า และพลรบไปเป็นทัพหนุนด้วย

ในปี พ.ศ. 2134 สมเด็จพระนเรศวรมหาราชและสมเด็จพระเอกาทศรถได้เสด็จประพาสเมืองเพชรบุรี เพื่อทรงเบ็ด ที่เขาสามร้อยยอดและตำบลโตนดหลวง และเสด็จเข้าเมืองเพชรบุรี

ในปี พ.ศ. 2203 รัชสมัยของสมเด็จพระนารายณ์มหาราช พวกมอญได้หลบหนีพม่าเข้ามาพึ่งไทย พระเจ้าอังวะจึงให้เจ้าเมืองหงสาวดีและเจ้าเมืองตองอูยกทัพไปกวาดต้อนเอาพวกมอญที่หนีมาเมืองไทยกลับเมืองพม่า เจ้าเมืองทั้งสองจึงยกทัพเข้ามาทางเมืองกาญจนบุรี กรุงศรีอยุธยาได้ให้พระยาจักรีเกณฑ์กองทัพจากหัวเมืองปักษ์ใต้ชายฝั่งทะเลตะวันตก ให้เจ้าพระยาโกษาเหล็กเป็นแม่ทัพหลวง พระยาเพชรบุรีเป็นทัพหน้า พระยาราชบุรีเป็นกองหนุน ร่วมกันตีทัพพม่าแตกพ่ายไป

ในสมัยสมเด็จพระนารายณ์มหาราชนี้ ถือว่าเป็นสมัยที่มีการติดต่อสัมพันธไมตรีกับต่างประเทศมากที่สุดสมัยหนึ่ง โดยเฉพาะกับประเทศฝรั่งเศส พระเจ้าหลุยส์ที่ 14 ได้ส่งราชทูตชื่อ เชอวาลิเอ เดอ โชมอง มายังกรุงศรีอยุธยา เจ้าเมืองบางกอกและเจ้าเมืองเพชรบุรี ได้นำขุนนางข้าราชการไปต้อนรับและนำราชทูตเดินทางไปยังกรุงศรีอยุธยา

ประมาณปี พ.ศ. 2229 เจ้าเมืองนครศรีธรรมราชได้ซ่องสุมผู้คนไว้เพื่อแข็งเมือง สมเด็จพระนารายณ์มหาราช จึงโปรดให้พระยาสุรสงครามเป็นแม่ทัพหลวง พระสุรเสนาเป็นยกกระบัตร พระยาเพชรบุรีเป็นกองเสบียง พระยาสีหราชเดโชเป็นทัพหน้า พระยาราชบุรีเป็นทัพหลังยกไปทางบกส่วนทัพเรือมีพระยาราชวังสันเป็นแม่ทัพ ยกไปตีเมืองนครศรีธรรมราช

พ.ศ. 2246 รัชสมัยสมเด็จพระพุทธเจ้าเสือพระองค์โปรดการทรงเบ็ดได้เสด็จประพาสเมืองเพชรบุรี โดยเสด็จประทับที่ตำบลโตนดหลวงและเขาสามร้อยยอด

พ.ศ. 2302 ในสมัยของพระเจ้าเอกทัศน์ พระยาเพชรบุรีได้ร่วมกับเจ้าพระยาอภัยราชา หมื่นทิพเสนา และกรมหมื่นเทพพิพิธเป็นกบฎ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ ทรงทราบจึงให้จับบุคคลดังกล่าว กรมหมื่นเทพพิพิธถูกเนรเทศไปเมืองลังกา ส่วนเจ้าพระยาอภัยราชา และพระยาเพชรบุรีให้ลงพระราชอาญาเฆี่ยนแล้วจำไว้ ในปลายปีนี้ พม่ายกทัพมาตีเมืองตะนาวศรี และมะริด จึงโปรดให้แก่จำเจ้าพระยาอภัยราชา และพระยาเพชรบุรี เพื่อให้ออกรบโดยมีพระยายมราชเป็นแม่ทัพ พระยาเพชรบุรีเป็นทัพหน้า พระยาราชบุรีเป็นยกกระบัตร พระสมุทรสงครามเป็นกองเสบียง ยกทัพไปรักษาเมืองมะริด แต่เมืองดังกล่าวเสียแก่พม่าก่อนแล้วและพม่าตีทัพพระยายมราชแตกกระจาย และตีได้เมืองกุยบุรี ปราณบุรีจนถึงเมืองเพชรบุรี โดยไม่มีผู้คิดสู้ป้องกันเมือง ทัพพม่าได้รวมพลที่ราชบุรี และยกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยา

เมื่อต้นปี 2303 ขุนนางและราษฎรได้กราบทูลให้เจ้าฟ้าอุทุมพรทรงลาผนวชออกมาสู้รบ การรบในครั้งนั้น พระเจ้าอลองพญาถูกระเบิดบาดเจ็บสาหัส พม่าจึงยกทัพกลับ

ปี พ.ศ. 2307 พม่ายกทัพตีเมืองทวาย มะริด ตะนาวศรี ระนอง ชุมพร ไชยา จนถึงเมืองเพชรบุรี ที่เมืองเพชรบุรีกองทัพพระยาพิพัฒนโกษา กับทัพของพระยาตากที่ยกมาจากกรุงศรีอยุธยารักษาเมืองเพชรบุรีไว้ได้

พ.ศ. 2308 พม่ายกทัพเข้ามาตีกรุงศรีอยุธยาอีกโดยยกเข้ามาทางเมืองทวาย ตะนาวศรี และยกเข้าตีเมืองเพชรบุรี ราชบุรี และกาญจนบุรี เมืองเหล่านี้สู้ข้าศึกไม่ได้ แตกพ่ายเข้าไปยังกรุงศรีอยุธยา พม่าเข้าล้อมกรุงศรีอยุธยาไว้ สมเด็จพระเจ้าเอกทัศน์ จึงโปรดให้พระเจ้าตากสินและพระยาเพชรบุรีคุมกองทัพเรือคนละกอง ยกกองทัพออกไปรับทัพพม่า พระยาเพชรบุรีตายในที่รบ ส่วนพระยาตากสินถอยทัพมาตั้งรับที่วัดพิชัยจนกระทั่งเสียกรุงศรีอยุธยา

เมื่อ พ.ศ. 2310 ในสมัยกรุงธนบุรี เมื่อพระเจ้าตากสินทรงรวบรวมผู้คน แล้วปราบดาภิเษกขึ้นเป็นกษัตริย์ตั้งเมืองหลวงที่กรุงธนบุรีแล้ว พระองค์ได้แต่งตั้งเจ้าเมืองใหม่ได้ประมาณ 11 เมือง รวมทั้งเมืองเพชรบุรีด้วย

ในปี พ.ศ. 2312 ได้โปรดฯให้เจ้าพระยาจักรี พระยายมราช พระยาอภัยรณฤทธิ์และพระยาเพชรบุรีเป็นทัพหน้าไปตีเมืองนครศรีธรรมราช การรบในครั้งนี้พระยาเพชรบุรี และพระยาศรีพิพัฒน์ตายในที่รบ สมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรีทรงยกทัพหลวงไปทางเรือเมื่อไปถึงตำบลบางทะลุ หาดเจ้าสำราญ เรือถูกพายุล่มหลายลำ พระเจ้าตากสินจึงทรงตั้งพิธีบวงสรวง และประทับอยู่ที่เมืองเพชรบุรีระยะหนึ่ง

พ.ศ. 2317 พม่ายกทัพเข้ามาอีก และเข้าปล้นค่ายเมืองพระยาเพชรบุรีจึงมีใบบอกแจ้งให้ทางกรุงธนบุรีทราบ สมเด็จพระเจ้าตากสินโปรดให้พระเจ้าหลานเธอ กรมขุนอนุรักษ์สงครามมาอยู่รักษาเมืองเพชรบุรีด้วย

ในสมัยกรุงรัตนโกสินทร์ เมื่อพระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราชปราบดาภิเษก และสร้างกรุงเทพมหานคร
เมื่อปี พ.ศ. 2325 แล้ว ในปี พ.ศ. 2328 พม่ายกทัพมาตีไทยถึง 9 ทัพ พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าจุฬาโลกมหาราช ดำเนินยุทธวิธีในการรบ โดยให้ยกทัพไปตั้งรับพม่านอกพระนครตามทางที่พม่ายกเข้ามา โดยเฉพาะการรบที่ตำบลลาดหญ้าจังหวัดกาญจนบุรี สมเด็จกรมพระราชวังบวร ทรงจัดให้การรบแบบกองโจร โดยให้พระยาสีหราชเดโชชัย พระยาท้ายน้ำและพระยาเพชรบุรีคุมทหารไปคอยซุ่มโจมตีหน่วยลำเลียงเสบียงอาหารของข้าศึก แต่นายทัพทั้งสามไม่สามารถปฏิบัติหน้าที่ได้ตามที่ได้รับมอบหมายจึงถูกประหารชีวิตทั้ง 3 คน การสงครามครั้งนี้พม่าเสียหายยับเยินกลับไป

ในปี พ.ศ. 2336 พระบาทสมเด็จพระพุทธยอดฟ้าฯ โปรดฯ ให้เตรียมทัพเพื่อไปตีพม่า โดยยกไปตั้งทัพที่เมืองทวาย กองทัพที่ยกไปยังเมืองดังกล่าวมีทัพของพระยาเพชรบุรีด้วย การรบในครั้งนี้พม่าได้ยกเข้าตีค่ายเพชรบุรีได้แต่อย่างใดก็ตามทัพไทยก็ตีเอากลับคืนมาได้ในที่สุด

สมัยรัชกาลที่ 2 พม่าได้ยกทัพมาตีหัวเมืองปักษ์ใต้ โปรดฯ ให้พระยาพลเทพมารักษาเมืองเพชรบุรีไว้ และให้สมเด็จพระเจ้าน้องเธอกรมหลวงพิทักษ์มนตรี เสด็จไปจัดทัพที่เมืองเพชรบุรี

จะเห็นว่าตั้งแต่ปลายสมัยกรุงศรีอยุธยาจนถึงต้นสมัยรัตนโกสินทร์ เมืองเพชรบุรีต้องเตรียมพร้อมในการทำศึกกับพม่ามาโดยตลอด จนถึงในสมัยต้นรัชกาลที่ 3 สงครามอันยืดเยื้อระหว่างไทยกับพม่าสิ้นสุดลงทั้งนี้เนื่องจากพม่ามีกรณีพิพาทกับอังกฤษ แต่หัวเมืองทางใต้ของไทย โดยเฉพาะเจ้าเมืองไทรบุรีและเมืองใกล้เคียง ได้พากันกระด้างกระเดื่อง เพราะมีชาวต่างชาติคอยยุยงอยู่เบื้องหลัง ในพ.ศ. 2382 พระบาทสมเด็จพระนั่งเกล้าเจ้าอยู่หัว ได้โปรดให้พระยาเพชรบุรีร่วมกับเมืองนครศรีธรรมราชและเมืองสงขลา ยกทัพไปปราบได้

ตั้งแต่สมัยรัชกาลที่ 4 เป็นต้นมา เมืองเพชรบุรีกลายเป็นเมืองสำคัญสำหรับเสด็จประพาสประทับแรมพักผ่อนอิริยาบถและรับรองแขกเมืองเนื่องจากเป็นเมืองที่มีสภาพธรรมชาติและภูมิประเทศที่สวยงาม พระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว โปรดเมืองเพชรบุรีมาก พระองค์ได้เสด็จเมืองเพชรบุรีหลายครั้งในระหว่างทรงผนวช ได้เสด็จทรงบำเพ็ญสมณธรรม ณ ถ้าเขาย้อย อำเภอเขาย้อยและประทับแรมที่วัดมหาสุวรรณารามด้วย เมื่อพระองค์เสด็จขึ้นเถลิงถวัลยราชสมบัติแล้ว ได้ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯให้สร้างพระราชมณเฑียร และเสด็จไปประทับที่พระนครคีรี เมื่อ พ.ศ. 2404 ที่พระนครคีรีนี้ พระองค์ทรงพระกรุณาโปรดเกล้าฯ ให้เป็นที่รับแขกเมืองดังเช่น เมื่อ พ.ศ. 2404 พระเจ้าแผ่นดินประเทศปรัสเซีย ส่งนายคอลออย เลนเบิร์ต เป็นราชทูตเข้ามาเจริญพระราชไมตรี ก็ทรงโปรดเกล้าฯ ให้กรมหลวงวงศาธิราชสนิทจัดเรือพาคณะทูตมาเที่ยวเมืองเพชรบุรี และในปี พ.ศ. 2406 พันเอก โรเบล ได้นำเครื่องราชอิสริยาภรณ์จากประเทศฝรั่งเศสชื่อเรจิออง ดอนเนอร์ มาทูลเกล้าฯ ถวายพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว และพระบาทสมเด็จพระปิ่นเกล้าเจ้าอยู่หัว ก็โปรดให้นำคณะทูตไปเที่ยวเมืองเพชรบุรีด้วย นอกจากนี้ในปี พ.ศ. 2408 ได้โปรดให้จัดพระราชพิธีโสกันต์ พระเจ้าลูกเธอ ที่เมืองเพชรบุรี

นอกจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัว จะโปรดให้สร้างพระนครคีรีแล้ว ยังโปรดให้ตกแต่งเขาหลวง ซึ่งมีพระพุทธรูปโบราณในถ้ำโดยสร้างบันไดหินลงไปและโปรดให้สร้างพระพุทธรูปเพื่ออุทิศถวายแก่พระเจ้าแผ่นดินองค์ก่อนๆ ร่วมกับเจ้านายฝ่ายในและพระบรมวงศานุวงศ์

ในสมัยรัชกาลที่ 5 พระบาทสมเด็จพระจุมจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวได้ทรงปรับปรุงระบบการบริหารส่วนภูมิภาค โดยได้แบ่งการปกครองเป็นมณฑลเทศาภิบาล เมืองเพชรบุรีได้ขึ้นกับมณฑลราชบุรี พระองค์ได้เสด็จมาประทับที่เมืองเพชรบุรีหลายครั้ง เพราะอากาศถูกพระโรคที่ทรงประชวรในฤดูฝน โปรดฯ ให้ซ่อมแซมพระนครคีรีใหม่ทั้งหมด เพื่อทรงใช้เป็นที่ประทับและรับรองแขกเมือง นอกจากนี้พระองค์ยังโปรดเสวยน้ำที่แม่น้ำเพชรบุรีด้วย โดยเฉพาะน้ำบริเวณตรงข้ามท่าน้ำวัดท่าไชยศิริ ดังข้อความในใบบอกเมืองเพชรบุรี พ.ศ. 2420 จากพระยาสุรินทรฤาไชยว่า

" ด้วยมีตราพระคชสีห์ โปรดเกล้าโปรดกระหม่อมออกไปแต่ก่อนให้ข้าพเจ้าแต่งกรมการกำกับกันคุมไพร่ไปตักน้ำหน้าวัดถ้าไช (วัดท่าไชยศิริ) ส่งเข้ามาเป็นน้ำสง (สรง) น้ำเสวยเดือนละสองครั้งๆละ ยี่สิบตุ่มเสมอจงทุกเดือนนั้น ข้าพระพุทธเจ้าได้แต่งให้ขุนลครประการคุมไพร่ไปตักน้ำหน้าวัดถ้าไชยี่สิบตุ่มได้เอาผ้าขาวหุ้มปากตุ่มประทับตรารูปกระต่ายประจำครั่งมอบให้ขุนลครประการคุมมาส่งด้วยแล้ว"

น้ำในแม่น้ำเพชรบุรีนี้ นอกจากพระบาทสมเด็จพระจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ เสวยแล้ว ยังใช้เป็นน้ำสำหรับเข้าพระราชพิธีบรมราชาภิเษกตั้งแต่สมัยโบราณด้วย

นอกจากนั้น พระบาทสมเด็จพระจุลจอมเกล้าเจ้าอยู่หัวยังทรงพระกรุณา โปรดเกล้าฯ ให้สร้างพระราชวังขึ้นอีกแห่งหนึ่งที่เมืองเพชรบุรีเรียกว่า พระราชวังบ้านปืน แต่สร้างไม่เสร็จเสด็จสวรรคตเสียก่อน พระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัวโปรดฯ ให้สร้างต่อจนเสร็จ พระราชทานนามว่า “พระรามราชนิเวศน์”

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระมงกุฎเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์เสด็จพระราชดำเนินไปประทับแรมที่จังหวัดเพชรบุรีหลายครั้ง แต่ละครั้งเป็นเวลาหลายวัน บางครั้งแรมเดือน ตั้งแต่ พ.ศ. 2461 ถึง พ.ศ. 2466 เสด็จมาประทับแรม ณ ค่ายหลวงหาดเจ้าสำราญเมืองเพชรบุรี เกือบทุกปีและโปรดให้สร้างพระราชนิเวศน์มฤคทายวัน ขึ้นที่ริมฝั่งชายทะเลเมืองเพชรบุรี เพื่อใช้เป็นที่ประทับแรมในฤดูร้อน

ในรัชสมัยของพระบาทสมเด็จพระปกเกล้าเจ้าอยู่หัว พระองค์ไม่โปรดประทับ ณ พระราชวังในเมืองเพชรบุรี โปรดฯ ให้สร้างพระราชวังไกลกังวล อำเภอหัวหิน จังหวัดประจวบคีรีขันธ์ และเสด็จพระราชดำเนินไปประทับที่พระราชวังไกลกังวลเสมอ

หลังเปลี่ยนการปกครองเป็นประชาธิปไตยในปี พ.ศ. 2475 เมืองเพชรบุรีได้ยกเป็นจังหวัด และในระหว่างสงครามโลกครั้งที่สอง (พ.ศ. 2484-พ.ศ. 2488) ญี่ปุ่นได้ยกพลขึ้นบกตามจุดต่างๆ คือ สงขลา ปัตตานี ประจวบคีรีขันธ์ ชุมพร นครศรีธรรมราช สุราษฎร์ธานี และบางปู ไทยจึงต้องทำสัญญาเป็นพันธมิตรกับญี่ปุ่น จังหวัดเพชรบุรี ในขณะนี้ได้กลายเป็นที่พักของเชลยศึกและเป็นที่ตั้งย่อยขององค์การใต้ดินที่ต่อต้านญี่ปุ่นและให้ความร่วมมือกับฝ่ายสัมพันธมิตร (สหรัฐอเมริกาและอังกฤษ) ที่เรียกว่า “ขบวนการเสรีไทย” หน่วยปฏิบัติการอยู่ที่ตำบลบางค้อ กิ่งอำเภอหนองหญ้าปล้อง ได้มีการฝึกอาวุธให้กับสมาชิกอาสาสมัคร เป็นการฝึกรบแบบกองโจรแต่สงครามได้สิ้นสุดเสียก่อน

ปัจจุบันเพชรบุรี เป็นจังหวัดที่มีโบราณสถาน โบราณวัตถุ สิ่งก่อสร้างตลอดจนวัดวาอารามที่เก่าแก่ และมีความสำคัญทางด้านศิลปวัฒนธรรมโดยเฉพาะฝีมือช่างเพชรบุรี ซึ่งปรากฏหลักฐานแสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของเพชรบุรีในอดีตที่ยังคงสืบทอดมาจนถึงปัจจุบันได้อย่างดี นอกจากนั้นยังเป็นจังหวัดที่มีสภาพธรรมชาติและภูมิประเทศที่สวยงาม มีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์และได้รับยกย่องในเรื่อง “ขนมหวาน” จากน้ำตาลโตนด อันเป็นเอกลักษณ์ของจังหวัดเพชรบุรีในปัจจุบัน

 
หน้าหลัก
 

กลุ่มที่ 9 ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5/2
โรงเรียนนวมินทราชูทิศ มัชฌิม อ.เมือง จ.นครสวรรค์