การเลี้ยงนกเขาชวา

ลูกนกที่ออกจากไข่นานประมาณ ๑/๒ - ๑ วัน จะเริ่มหัดบิน ครั้นเวลาล่วงมานานประมาณ ๒๐ - ๒๕ วัน แม่นกจะเริ่มออกไข่ใหม่อีกครั้งหนึ่ง ในระยะนี้พ่อนกจะไล่จิกตีลูกนก โดยปกติประมาณ ๒๐ วัน หลังจากที่ลูกนกออกจากไข่ควรจะแยกเอาลูกนกไปใส่กรงเล็กทันที เป็นการป้องกันพ่อนกที่จะจิกตีลูกนกจนตาย ในระยะแรกที่ลูกนกต้องจากอกพ่อนกแม่นก ลูกนกอาจกินอาหารเองไม่เป็น เจ้าของจะต้องเอาถั่วเขียวบดพอแหลกป้อนให้กิน จนกว่าลูกนกกินอาหารเองได้เอง จึงค่อยนำลูกนกไปปล่อยในกรงใหญ่ เพื่อให้ลูกนกหัดบินออกกำลังประมาณ ๓– ๖ เดือน แล้วจึงค่อนนำมาเลี้ยงในกรงเล็กใหม่ แต่ถ้านกเขาเพศเมียยังไม่ออกไข่ใหม่ เจ้าของก็อาจไม่ต้องแยกลูกนก จากพ่อแม่ก่อนก็ได้ เพียงแต่เจ้าของนก ต้องค่อยหมั่นเติมอาหารจำพวกเมล็ดดอกหญ้าเล็ก ๆ ข้างฟ่างและถั่วเขียวบดในถ้วยอาหารที่อยู่ในกรงเสมอ ๆ อย่าให้ขาด ในช่วงนี้พ่อนกจะเป็นผู้คอยป้อนอาหารให้ลูกนกเอง

เมื่อลูกนกเริ่มโตขึ้นก็จะต้องเปลี่ยนอาหารเป็นข้าวเปลือกเมล็ดสั้น และให้อาหารเสริมพวกดอกหญ้า ข้าวฟ่าง ข้าวเหนียวดำ ปัจจุบันบางคนก็ให้นกเขากินตั๊กแตนด้วย เป็นการเสริมธาตุนก ทำให้นกมีกำลังขัน แต่ก็ต้องระวังอย่าให้นกกินตั๊กแตนที่มีสีน้ำตาลดำ เพราะทำให้นกเขาตายได้ ตั๊กแตนที่เสริมกำลังควรเป็นตั๊กแตนที่มีสีเขียวตัวอ่อนที่มีลักษณะป้อม ๆโดยต้องเด็ดเขาตั๊กแตนทิ้งให้หมด ให้เลือกแต่ลำตัว และปีกอ่อน ๆ เท่านั้น ให้กินครั้งละ ๓ ตัว เดือนหนึ่งให้กินประมาณ ๒ ครั้ง แต่นกเขาที่แข็งแรงแล้วไม่จำเป็นต้องให้ตั๊กแตนอีก และจะต้องหมั่นเปลี่ยนน้ำให้สะอาดอยู่เสมอ

การเลี้ยงนกเขาไว้ในบ้านเพื่อประดับบ้าน หรือเลี้ยงไว้ฟังเสียงเพื่อความสุขใจ หรือจะเลี้ยงเพื่อเป็นการค้า หรือจะเลี้ยงเพื่ออะไรก็แล้วแต่ ควรจะเลี้ยงมากกว่า ๑ ตัวเสมอ เพราะนกเขาจะได้มีความสุขไม่หงอยเหงา อย่างน้อยที่สุดควรเลี้ยง ๑ คู่ และควรเป็นคู่ต่างเพศจะได้เป็นเพื่อนคู่ขัน ประชันกันแก้เหงา โดยจะเลี้ยงไว้กรงละตัว หรือ ๒ ตัว รวมกันไว้ในกรงค่อนข้างใหญ่ก็ได้

นักเล่นนกทางภาคใต้นิยมเลี้ยงนกเขาชวาแบบฝึกตลอดเวลา พยายามที่จะนำไปโยงตากแดดตอนเช้าก่อนไปทำงาน เพื่อให้นกเขาได้ขันออกเสียงเต็มที่ เหมือนนกที่อยู่ในป่า ยิ่งถ้าเป็นชาวบ้านก็แทบจะหิ้วกรงนกเขาติดตัวตลอดเวลา เวลาไปกรีดยางหรือทำสวนจะเอาไว้กับต้นไม้ใกล้ตัว ทำงานไปฟังเสียงนกเขาขันไปด้วย แม้แต่เวลพักผ่อนจะเข้าร้านน้ำชากาแฟก็ยังหิ้วกรงนกเขาเข้าไปในร้านด้วย วิธีการเช่นนี้ช่วยให้นกเขาเชื่อง ไม่ตื่นกลัวคน ไม่ตกใจง่าย เวลาอยู่ในบ้านก็คอยดีดนิ้วร้องเรียกให้นกเขาขันคูช่วยให้นกเขาคุ้นกับคน

การแขวนกรงนกเขาให้ถูกที่เป็นเรื่องสำคัญมาก ที่ใดแขวนแล้วนกไม่ชอบ นกเขาจะดิ้น ซึ่งอาจจะเป็นเพราะกลัวอะไรสักอย่างหนึ่งก็ได้ สถานที่แขวนกรงนกจะต้องอยู่ห่างจากศัตรูของนกเขา เช่น แมว หนู ตุ๊กแก แมลงสาบ ค้างคาวที่ชอบบินผ่านกรง แม้แต่สถานที่สีฉูดฉาดก็อาจทำให้นกเขาตื่นตกใจได้ ที่ใดแขวนแล้วนกเขาขันบ่อย ๆ ก็ควรจะแขวนไว้ที่นั่นประจำ เพราะจะทำให้ชินต่อสถานที่ นกเขาจะหมดกังวลกับสิ่งหวาดกลัว และถ้ามีสถานที่กว้างขวางพอก็ควรจะแขวนกรงนกเขา ให้มีระยะห่างกันพอสมควร ถ้าห่างกัน ขนาดนกเขามองไม่เห็นซึ่งกันและกันได้ยิ่งดี เพราะนกเขาจะได้ตะเบ็งเสียงดังเต็มที่ เป็นการขันโดยไม่ออมเสียง ทำให้คนฟังได้รู้เสียงขันที่แท้จริงของนกเขานั้น

สถานที่ที่ดีที่สุด คือ ชายคาบ้านหรือสถานที่ใกล้หน้าต่าง เพราะนกเขาจะได้มองเห็นท้องฟ้า เห็นทิวทัศน์ธรรมชาติ และตัวอาคารของบ้านด้วย ช่วยให้นกเขาเกิดความเคยชินกับบ้าน

BACK